First publish on www.manager.co.th by Jakrapong Kongmalai (16 September 2004)
Revised by Jakrapong Kongmalai (30 April 2006)
คุณผู้อ่านทุกท่านคงจะมีเว็บไซต์สุดโปรด 5 อันดับแรกอยู่ในใจ และผมเชื่อเหลือเกินครับว่า 1 ใน 5 นั้น จะต้องมีเว็บไซต์ประเภท Search Engine อย่าง Google และ Siamguru ประดับอยู่บ้าง ต่อจากนั้นก็คงจะเป็นเว็บไซต์ท่า (Portal Site) ที่มีลิงก์ให้คุณค้นหาข้อมูลต่อไปเรื่อย ๆ หากลองสังเกตจาก 5 เว็บไซต์โปรดที่คุณเข้าบ่อย ๆ นี้ คุณเคยสังเกตไหมครับว่ามันสะท้อนพฤติกรรมในการค้นหาข้อมูลของคุณอย่างไร?
ประเด็นที่ผมจะเสนอต่อนี้ไปส่วนใหญ่ผมคิดเอง บางส่วนอ้างอิงแนวคิดของต่างประเทศมา เพราะเห็นว่ามันน่าจะเข้ากันกับสังคมอินเทอร์เน็ตไทย ถ้าคุณไม่เห็นด้วย กรุณาโต้แย้งพร้อมเหตุผลในเว็บบอร์ดเพื่อต่อยอดทางความคิดกันด้วยนะครับ
เมื่อพูดถึงการค้นหาข้อมูลในสมัยอินเทอร็เน็ตเข้ามาเมืองไทยในยุคแรก ๆ เว็บไซต์ประเภท Search Engine ก็เป็นเว็บไซต์ประเภทหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงว่าเป็นเว็บไซต์แห่งอนาคต แต่ ณ เวลานั้น Search Engine ที่เป็นสัญชาติไทยอย่าง Siamguru.com ก็ยังไม่ได้โด่งดังและถูกพัฒนาขึ้นมามีประสิทธิภาพเหมือนในปัจจุบันทางออกของการสืบค้นข้อมูลไทยในยุคนั้นจึงหนีไม่พ้นการพึ่งพา Portal Site ที่เรารู้จักกันดี เช่น Sanook.com, Hunsa.com, Siam2you.com ฯลฯ เนื่องจากเว็บไซต์เหล่านี้ได้รวบรวมลิงค์ที่น่าสนใจไว้มากมาย ผู้ใช้เพียงมองหาสิ่งที่ตนกำลังหาจาก directory ที่สนใจแล้วลองคลิกเข้าไปเรื่อย ๆ จนเจอเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลได้ตรงกับที่ต้องการ
แต่ ณ วันหนึ่งที่เว็บไซต์อย่าง Google.co.th เขยิบตัวเองเข้ามาในเมืองไทยด้วยความสามารถในสืบค้นข้อมูลภาษาไทยได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วจนกลายเป็นเว็บไซต์ยอดนิยมอย่างรวดเร็ว จนผู้บริหารเว็บ Portal ต่าง ๆ ต้องหันมาดูว่า Google จะขยับตัวอย่างไรต่อไป ส่วนทางด้านเว็บไซต์แบบเดียวกันอย่าง Siamguru.com ก็ต้องออกมาพูดเลยทีเดียวว่าได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน และประกาศ re-positioning Siamguru.com ว่าเป็นเว็บไซต์ Search Engine ที่ใช้ค้นหา content ภาษาไทยได้ดีที่สุด ชูจุดเด่นความเป็นเว็บไซต์ท้องถิ่นไว้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ว่าเว็บไซต์ของคนไทยย่อมหาข้อมูลของไทยได้ดี
จากการวิเคราะห์จากเอกสารที่รวบรวม ผลที่ออกมาก็คือ พฤติกรรมการสืบค้นข้อมูลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนไปจากเมื่อ 5-6 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง จากการพึ่งพาเว็บไซต์ท่าด้วยการควานหาลิงก์ให้เจอ แล้วค่อย ๆ ละเลียดตามหาเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเฉพาะในด้านที่ตัวเองต้องการเปลี่ยนมาเป็นการพิมพ์ Keyword เพียงไม่กี่คำลงในช่องว่าง ก็ได้คำตอบออกมาในลักษณะ Answer Machine เพราะเว็บไซต์แต่ละแห่งก็มี MetaTag ที่รองรับการทำงานของ Search Engine อยู่แล้ว
นั่นหมายความว่าพฤติกรรมในการหาข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ท่าจะลดลง แต่ Search Engine จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการสืบหาข้อมูลได้ถูกตีกรอบให้แคบลงตรงกับความต้องการข้อมูลแบบรวดเร็วปัจจุบันทันด่วน และเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้นในวันที่โลกของข้อมูลข่าวสารล้นทะลัก Portal Site กำลังนำเสนอข้อมูลในภาพกว้างๆ ซ้ำๆ กันหลายอย่าง อาทิ เรื่องกิน เรื่องเที่ยว เรื่องเซ็กซ์ เรื่องในชีวิตประจำวัน หันไปทางไหนก็มีเว็บไซต์ท่านำเสนอข้อมูลเหล่านี้ทับซ้อนกัน
ในขณะที่ผู้ใช้กำลังประสบกับ “ประสบการณ์การสับสนทางข้อมูล” ไม่รู้จะเริ่มหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลไหนดี คำถามประเภทนี้ก็เพิ่มขึ้นทุกวัน
“Content ไหนจะดี มีคุณภาพ? จะได้รีบคลิก ไม่อยากเสียเวลาหา”
“Content อันนี้น่าจะดีนะ น่าจะใช้ แต่ฉันจะคลิกมันดีไหม เธอคิดว่าไง?”
“อืม เรื่องนี้ก็ดีนะ แต่ฉันอยากค้นจาก Search Engine เพิ่มอีกว่ามีข้อมูลที่ละเอียดกว่านี้อีกไหม”
จากอัตราการเติบโตของผู้เยี่ยมชมเว็บ Portal ที่ช้าลงไม่เป็นไปอย่างก้าวกระโดดอย่างในอดีต ในขณะที่เว็บไซต์ที่สร้างสรรค์ข้อมูลด้วยตนเอง มีข่าวสารข้อมูลที่เฉพาะและแยกย่อยลงไปหาคนใน segment ที่ละเอียดมากยิ่งขึ้นกลับได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ (เช่น เว็บไซต์สื่อมวลชนไทยแขนงต่างๆ ที่ให้กองบรรณาธิการนำเสนอข่าวสารและข้อมูลด้วยกลยุทธ์การจัดการข่าวสารข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ จะได้รับความสนใจและมีอันดับสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จากการจัดอันดับใน Truehits.net )เว็บไซต์ที่นำเสนอข้อมูลที่เฉพาะและแยกย่อยแบบ Niche Market เหล่านี้ต่างหากที่จะตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนที่ใช้ “Search Engine” ในฐานะ “Answer Machine” เพราะข้อมูลที่ละเอียดและลึกคือคำตอบ ไม่ใช่เพียงเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งรวมลิงค์ของข้อมูลทั่ว ๆ ไป
จากนี้ไปการสร้างเว็บไซต์ที่ดีประการหนึ่งจึงจำเป็นที่ควรจะสร้างเว็บไซต์ที่มีคำตอบอย่างละเอียดให้กับผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ ที่จะค้นหามันจาก Search Engine ได้ง่าย ท่ามกลางโลกของข่าวสารที่ต้องการคำตอบแบบฉับไว ส่วนเว็บ Portal ที่มีอยู่จะต้องบูรณาการเอา Search Engine มาใช้กับฐานข้อมูลที่ถูกปรับเป็นฐานความรู้ที่ให้คำตอบกับผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในอนาคตอันใกล้ เราอาจเห็นเว็บไซต์ Portal ชื่อดังเว็บใดเว็บหนึ่ง และ Search Engine ในประเทศไทยควบกิจการกันก็เป็นได้
Reference:- When Search Engines Become Answer Engines โดย Jakob Nielsen August 16, 2004
– Where Google Is Headed โดย Charlene Li February 23, 2004