E-Commerce เท้าถีบ

วันนี้อัพ Blog สองรอบครับ ดูเหมือนขยันนะ อิอิ ไม่ใช่หรอกครับ พอดีผมนึกขึ้นได้ว่าผมชอบบทความของวริษฐ์ ลิ้มทองกุล จากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์อยู่บทความหนึ่งที่ชื่อว่า E-Commerce เท้าถีบ

“ออฟ” หรือวริษฐ์เป็นเพื่อนนักข่าวรุ่นไล่ ๆ กับผม ส่วนใหญ่เขาจะเขียนถึงการเมือง โดยเฉพาะการเมืองจีนที่มีผลกระทบกับไทย แต่เมื่อนานมาแล้ววันที่ 18 เมษายน 2547 16:40 น. เขาเกิดนึกสนุกเขียนเกี่ยวกับ E-Commerce ขึ้นมาแล้วเป็นตอนที่ผมชอบเอามาก ๆ เสียด้วย อยากให้เพื่อน ๆ ทุกคนที่แวะเวียนมาอ่านที่ jakrapong.com ได้อ่านกัน เลยขอยกบทความทั้งหมดมาไว้ที่นี่เลยนะครับ
– – – – – – – – – – – – – – –

ตัวเลขเมื่อสิ้นปี พ.ศ.2546 ประชากรชาวเน็ตในประเทศจีน ถูกบันทึกไว้ที่ 80 ล้านคน คิดเป็นอัตราส่วนประมาณร้อยละ 6 ของประชากรทั้งประเทศ ปีที่ผ่านมาและปีนี้เป็นที่คาดหมายกันว่า ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า ควานไต้ (宽带) จะยิ่งแพร่หลายตามหัวเมืองใหญ่
ทั้งนี้เมื่อปลายปี 2546 จีนมีจำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์อยู่ที่ราว 10 ล้านคน หรือคิดเป็น หนึ่งในแปดของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด ตัวเลขข้างต้นบ่งชี้ให้เห็นชัดว่า อุตสาหกรรมการโทรคมนาคมในประเทศจีนนั้นเติบใหญ่เพียงใด

ผมขอให้ข้อมูลเป็นพื้นฐานสักหน่อยว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือ Telecom ในประเทศจีนนั้นถูกผูกขาดด้วยบริษัท 3 บริษัทคือ China Telecom, China Mobile และ China Unicom แต่ก็ยังมีบริษัทเทเลคอมขนาดกลางและเล็ก กระจายไปตามเมืองและมณฑลต่างๆ อีกหลายสิบบริษัท

China Telecom เป็นบริษัทโทรศัพท์พื้นฐาน (Fixed-line Telephone) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนคือ มีรายรับในปี 2546 มากถึง 118,500 ล้านหยวน ส่วนสองบริษัทหลังคือ สองบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดย China Mobile เป็นผู้นำตลาด ตามมาด้วย China Unicom (จำนวนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศจีนนั้นแซงจำนวนโทรศัพท์พื้นฐานไปแล้ว) แต่เมื่อมองลึกลงไปพิจารณาถึงพัฒนาการการเติบโตของ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) อันเป็นส่วนประกอบหนึ่งของนิวอีโคโนมี ที่น่าจะพัฒนาควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ก็จะพบว่า จีน ก็มีปัญหา การลงทุนในธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบสูญเปล่าอย่างมหาศาล

ประการแรก เนื่องจากปัญหา การโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต นั้นไม่ได้รับการยอมรับจาก อุตสาหกรรมการโฆษณามากเท่ากับ สื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์พอร์ทัลใหญ่ๆ ของจีนอย่างเช่น Netease, Sohu หรือ Sina ต่างก็เคยประสบปัญหาดังกล่าวมาแล้วระลอกหนึ่ง โดยเฉพาะหลังจากที่กระแสด็อทคอม ในสหรัฐฯ ซบเซาลงไป จนทำให้เว็บไซต์พอร์ทัลเหล่านี้ต้องปรับตัว ด้วยการพึ่งพารายได้จากโฆษณาให้น้อยลง และไปอาศัยน้ำเลี้ยงจากบริการของโทรศัพท์เคลื่อนที่แทน คือ บริการ SMS, MMS ดาวน์โลด เสียงเรียกเข้า รูปภาพ รายงานข่าว ที่สามารถเก็บเงินได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า นอกจากอาศัยรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่แล้วเว็บไซต์หลายแห่งก็ก้าวไป เปิดบริการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ผ่านอินเทอร์เน็ต เปิดการประมูลผ่านออนไลน์ และเกมออนไลน์

ประการที่สอง การพัฒนาของตลาดการเงินของจีนยังล้าหลังกว่าตลาดโลกอยู่มาก ธนาคารในพื้นที่และมณฑลต่างๆ ของจีนมีระบบการเปิดทำการไม่เป็นมาตรฐานอย่างเช่น ในปักกิ่งธนาคารเปิดเช้าปิดเย็นขณะที่ในเซี่ยงไฮ้ธนาคารบางแห่งเปิด 24 ชั่วโมง ยังมิต้องกล่าวถึงบัตรเครดิตที่ชาวจีนเพิ่งรู้จักและเริ่มแพร่หลายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง ทั้งนี้บัตรเครดิตนี่เองที่เป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตที่สำคัญมากสำหรับประชากรในสหรัฐฯ ต้นแบบของธุรกิจ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

แล้ว พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จีนเติบโตได้อย่างไร

ในเมื่อเดินต้องการจะเติบโตในเส้นทางนี้ ในเมื่อไม่สามารถใช้ช่องทางการจ่ายเงินผ่านระบบเครดิตได้ ผู้ประกอบการ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในจีนก็มีวิธีแก้ไขให้เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม คือ หนึ่ง ระบบธนาณัติ สอง การโอนเงินผ่านธนาคาร ซึ่งค่อนข้างจะล่าช้าทั้งคู่ และวิธีที่สาม ก็คือ จ่ายเงินเมื่อได้รับของ (Cash-on-delivery:COD) เหมือนกับการสั่งโทรพิซซ่า

ความพิเศษของ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แบบจีนก็คือ ระบบการส่งของในเมืองใหญ่ของจีนนั้นดำเนินไปได้ด้วย “จักรยาน” เป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อทำให้การส่งครอบคลุมอย่างทั่วถึง บริษัทที่ประกอบธุรกิจ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในจีนจึงต้องมีการสร้าง “เครือข่ายจักรยาน” เว็บไซต์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อย่าง www.dangdang.com/ ซึ่งก่อตั้งโดยนักเรียนเก่า MBA จากสหรัฐฯ และได้รับแนวคิด-อิทธิพลมาจาก เว็บไซต์ตำนานอย่าง อะเมซอน (Amazon) โดยสินค้าที่ dangdang.com ขายนั้นก็เป็นสินค้ารูปแบบเดียวกับที่ อะเมซอน ทำก็คือ หนังสือ ซีดี ดีวีดี ซอฟท์แวร์ เกม นอกจากนี้ก็มีสินค้าย่อยอื่นๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องสำอาง บ้างแต่เป็นส่วนน้อย

ระบบการส่งสินค้านั้น dangdang.com ใช้ระบบการจ้างอีกต่อ โดยใช้บริการจากบริษัทขนส่งหลายๆ แห่ง ทั้งนี้โดยปกติเฉลี่ยแล้วจะคิดค่าขนส่งราวร้อยละ 5 ของสินค้า ขณะที่เพื่อรับประกันการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าบริษัทต่างๆ จะต้องจ่ายเงินจ่ายเงินประกันสินค้าเป็นเวลา 3 วันของรายรับจากค่าขนส่ง ซึ่งก็ตกอยู่ที่ราว 50,000-100,000 หยวน (ราว 250,000-500,000 บาท)

ในระบบดังกล่าว บริษัทขนส่งก็จะต้องไปจัดการกับ บรรดา “นักถีบ” ส่งสินค้าเอาเองในประเด็นการป้องกันการสูญหาย ความปลอดภัยของสินค้า รวมถึงเวลาจัดส่ง ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วบรรดาเด็กจักรยานเหล่านี้จะเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาหางานทำงานเมือง จากแต่เดิมในช่วงที่กระแส พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในเมืองจีนบูมขึ้นไปตามสหรัฐฯ เมื่อช่วง 4-5 ปีก่อน ร้านขายหนังสือที่ได้รับต้นแบบมาจากอะเมซอนนั้นมีถึง 300 กว่าแห่ง แต่ถึงปัจจุบัน ธุรกิจ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ของจีนที่รอดตัวมาจากการล่มสลายของกระแสด็อทคอมต่างก็ใช้บริการ “เด็กจักรยาน” ทั้งสิ้น

จะเรียกได้ว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หนึ่งในธุรกิจที่ได้แบบแผนเศรษฐกิจแบบนิวอีโคโนมีของจีน ในปัจจุบันจำนวนไม่น้อยต่างต้องพึ่งพาอาศัย เทคโนโลยีโบราณ พาหนะเท้าถีบอย่างจักรยาน เพื่อให้รอดตัวอยู่ได้ก็คงไม่ผิดนัก

สำหรับแนวโน้มในอนาคต แม้โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินจะยังไม่พัฒนามากนัก แต่ขาใหญ่ในเรื่อง พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐอเมริกา อย่างเช่น Ebay หรือ Yahoo ต่างขยับตัวเข้ามาลงทุนในจีนล่วงหน้ากันแล้ว โดย Ebay เว็บไซต์ตัวกลางการประมูลออนไลน์อันดับหนึ่ง เมื่อเดือนมิถุนายน 2546 ลงทุนซื้อบริษัท EachNet ของจีนไปด้วยราคา 180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจาก Ebay คาดหมายว่า ภาคพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนน่าจะขยายตัวได้อีก 4 เท่าภายในปี พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) และภายในอีกหนึ่งทศวรรษถึงหนึ่งทศวรรษครึ่งข้างหน้า “อีคอมเมิร์ซเท้าถีบ” ของจีนในปัจจุบันจะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกของ Ebay

สำหรับคนที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้มีของแถมครับ พอดีผมไปหา PowerPoint ที่ใช้ Present Dangdang.com เจอ เอาไปเลย!

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: