สร้างชุมชนออนไลน์สไตล์บอกอตัวอ้วน

เราคงไม่สามารถปฎิเสธได้ว่า หนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จในการก่อร่างสร้างธุรกิจออนไลน์ก็คือการสร้างชุมชนออนไลน์ของคุณให้เข้มแข็ง สมาชิกค่อนข้างสนิทแนบแน่น พร้อมกับมีจุดสนใจร่วมกัน มีเป้าหมายร่วมกันที่จะทำอะไรคล้าย ๆ กัน เช่น สนใจเรื่องท่องเที่ยว ก็มาคุยกันเรื่องประสบการณ์ในแต่ละทริป การเตรียมตัวเดินทาง เลยไปถึงการนัดแนะไปเที่ยวและสังสรรค์กันภายในชุมชนออนไลน์

ผมเองมีเว็บไซต์เล็ก ๆ อยู่เว็บหนึ่งชื่อ aussietip.com (ออสซี่ทิปดอทคอม)ครับ วันนี้จะเอามาเป็นกรณีศึกษาให้คุณ ๆ ลองอ่านกันดู เผื่อว่าจะนำไปต่อยอดอะไรได้บ้าง

aussietip.com เป็นเว็บไซต์ที่ผมสร้างขึ้นมาเองเมื่อ 5 ปีที่แล้วสมัยยังเรียนอยู่ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ตอนนั้นผมเพิ่งลาออกจากการเป็นนักข่าวหน้าบันเทิงที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ พอไปถึงที่โน่นก็ยังอยากทำงานสื่ออยู่ อยากเขียนอะไรแล้วคนในวงกว้างสามารถอ่านได้ในวงกว้าง ผมเลยตัดสินใจสร้างเว็บไซต์ขึ้นมา โดยตั้งเป้าหมายว่า aussietip.com จะเป็นเว็บไซต์สำหรับนักเรียนไทยในออสเตรเลีย และท้ายที่สุดผมก็ทำได้ครับ aussietip.com กลายเป็นเว็บไซต์ที่นักเรียนไทยทั้งที่อยู่เมืองไทยและที่ออสเตรเลีย เข้ามาพูดคุยกัน หาเพื่อน หางาน หาบ้าน คนไทยที่เป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารก็มาหาน้อง ๆ ในเว็บไปเป็นบริกรบ้าง บางคนก็มาโฆษณาหา sharemate หรือแม้กระทั่งแอบมานัดแนะไปเที่ยวไปเดทกันก็เคยเจอ

จนกระทั่งผ่านไปเกือบ 2 ปี ผมเรียนจบกลับเมืองไทย ทางสถานทูตออสเตรเลีย โดยทางหน่วยงาน Australian Education Centre (AEC)ก็เรียกผมเข้าไปแชร์ประสบการณ์กับน้อง ๆ นักเรียนไทยที่กำลังจะไปเรียน พร้อมออกจดหมายรับรองให้ผมฉบับหนึ่งว่า aussietip.com เป็นเว็บไซต์ที่ทางสถานทูตออสเตรเลีย highly recommended ให้นักเรียนไทยเข้าชม เพราะจะได้ประโยชน์หลาย ๆ อย่าง บวกกับพี่ ๆ สื่อมวลชน ต่างพากันทยอยลงข่าวเกี่ยวกับ aussietip.com ไม่ว่าจะเป็น ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด มติชน ผู้จัดการ ไทยโพสต์ รายการโทรทัศน์ วิทยุ ฯลฯ ทำให้คนรู้จักเว็บไซต์มากขึ้น จนชุมชนเริ่มเติบโตขึ้น จากเคยคุยกันอยู่ 5-10 คน ตอนหลัง ๆ มีคนกลับเข้ามาไม่ต่ำกว่าวันละ 200 คน เพื่อมาคุยเรื่องเดียวกันนั่นก็คือ เรื่อง Lifestyle ทั่ว ๆ ไปของนักเรียนไทยในออสเตรเลียจึงทำให้เว็บอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้

ถ้าถามว่าหัวใจของความสำเร็จในการสร้างชุมชนออนไลน์คืออะไร ตอนแรกผมกะเขียนว่า “ก็รักคนในชุมชนออนไลน์ของคุณก่อน แล้วพวกเขาก็จะรักคุณเอง เพราะผมตั้งใจทำให้คนไทยรักกัน” แต่ผมว่าฟังดูมันเลี่ยน ๆ ชอบกล เอางี้ดีกว่าครับ เอาเป็นว่าการสร้างชุมชนออนไลน์ประกอบไปด้วยปัจจัย 3 ส่วน

1 Human Computer Interaction (HCI)
2 Moderator
3 e-local norms

มาดูกันก่อนว่าข้อ 1 คืออะไร เอาภาพกว้าง ๆ ก่อน …พื้นฐานของ HCI ก็คือการปรับปรุงให้ปฎิสัมพันธ์ (interaction)ระหว่างผู้ใช้งานเว็บไซต์กับคอมพิวเตอร์ราบรื่นขึ้น ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานกับมนุษย์ได้ง่ายขึ้น หรือที่เรา ๆ ท่าน ๆ เรียกกันว่า user-friendly นั่นล่ะครับ การที่จะจับคนมาเสวนาฮาเฮกัน ต้องทำให้เขาสะดวกด้วย ไม่งั้นก็พาลหนีไปเสียดื้อ ๆ ได้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของการเลือกใช้สีด้วยนะครับ เช่น ถ้าผมทำเว็บบอร์ดเป็นสีโทนร้อน ทางจิตวิทยาจะบอกว่า เฮ้ย คนมีสิทธิ์ทะเลาะกันมากขึ้น ของ aussietip.com เองผมใช้มาแล้วสองสี คือสีเขียวเย็น ๆ และสีฟ้าอ่อน ๆ ทำให้คนในเว็บบอร์ดค่อนข้างรู้สึก soft

ข้อ 2 Moderator ก็คือผู้ควบคุมดูแลและเอื้อประสานประโยชน์ของคนในชุมชน อาจจะเป็นตัวเว็บมาสเตอร์เองก็ได้ หรือจะส่งไม้ต่อให้ user ในเว็บไซต์ก็จะเยี่ยมมาก เพราะยิ่งมีความหลากหลายมากเท่าไหร่ ชุมชนก็ยิ่งมีสีสัน และน่าสัมผัสมากยิ่งขึ้น

ข้อ 3 e-social norms นี่ผมประดิษฐ์ศัพท์ขึ้นมาเองล่ะครับ ฮ่าๆ e หมายถึง electronics ส่วน social แปลตรงตัวว่า สังคม ส่วน norms = บรรทัดฐาน แปลรวม ๆ ก็คือ บรรทัดฐานทางสังคมแบบอิเล็คทรอนิคส์ (ยิ่งแปลยิ่งงงไหมครับ)

แต่ท่ามกลางความงุนงงนี้ ผมมีเหตุผลว่าทำไมเราจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึง บรรทัดฐานทางสังคมแบบอิเล็คทรอนิคส์นี้

บรรทัดฐานทางสังคมแบบอิเล็คทรอนิคส์ที่ผมกำลังพูดถึงนี้ก็คือการพยายามเข้าอกเข้าใจถึงบริบท (context) ในสังคมท้องถิ่นที่เรากำลังอยู่นั้น ๆ ว่าภาพรวม การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม นั้นเป็นอย่างไร ที่เราจำเป็นต้องเข้าใจถึงบริบทในแต่ละชุมชนนั้นเป็นเพราะแต่ละชุมชนและแต่ละสังคมต่างมีจุดมุ่งหมายต่างกัน อย่าง aussietip.com เอง เป็นเว็บที่เชื่อมประเทศไทยเข้ากับประเทศออสเตรเลีย แต่ว่าบริบททางสังคมแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คนไทยที่อยู่ฝั่งไทยก็ไม่รู้จักทางออสเตรเลีย ทางคนไทยที่ออสเตรเลียก็คิดถึงเมืองไทย การสร้างชุมชนออนไลน์ในแบบ aussietip.com เลยเป็นการสร้างชุมชนแบบที่ต้องอาศัยความเข้าใจในการใช้ชีวิตทั้งเมืองไทยและออสเตรเลีย ไม่งั้นก็คุยกันไม่รู้เรื่อง แล้วจะเป็นชุมชนได้ลำบาก

คุณ ๆ ที่ผ่านเข้ามาอ่าน อาจจะคิด เอ๊ ก็นั่นมัน aussietip.com นี่ ถ้าฉันทำชุมชนออนไลน์เกี่ยวกับคนรักหนังสือในเมืองไทย มันจำเป็นไหมที่จะต้องรู้ไอ้เจ้า e-social norms ของคุณ

คำตอบคือจำเป็นครับ

e-social norms ของคนที่จะทำชุมชนออนไลน์เกี่ยวกับคนรักหนังสือในเมืองไทย จำเป็นจะต้องมีความรู้และเข้าใจในแวดวงวรรณกรรมมากทีเดียวว่า วัฒนธรรมการอ่าน และรสนิยมของคนไทยชอบอ่านอะไร ไม่ชอบอะไร เพราะมันจำเป็นต่อการนำเสนอ และการแนะนำหนังสือ คุณจำเป็นที่จะต้องหยั่งลึกไปถึงกรอบทางความคิดของคนในชุมชนของคุณ ว่าคนในชุมชนของคุณจะเป็นคนแบบไหน เพื่อให้คุณ ๆ เห็นภาพชัดขึ้น ผมจะแบ่งตัวอย่างชัด ๆ ดังนี้ครับ

การเมือง – แนวคิดทางการเมืองของคนในชุมชนเหมือนกันไหม ผมยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนในเว็บบอร์ดพันทิป ห้องราชดำเนิน กับเว็บบอร์ดในเว็บหนังสือพิมพ์ผู้จัดการต่างกันไหมล่ะครับ ถ้าหากว่าคุณเข้าใจว่าคนในชุมชนของคุณเป็นคนแบบไหน คุณระบุได้ชัดว่าเขาต้องการอะไร สร้างชุมชนได้ง่ายขึ้นครับ คุณจะระบุได้ว่าเขาจะชอบหนังสือนิยายแบบโจนาทาน ลิฟวิงสตัน หรือจะอ่านโต๊ะโตะจังกันแน่

เศรษฐกิจ – ในช่วงนี้ข้าวยากหมากแพงถ้าคุณนำเสนอเรื่องที่ออกไฮโซ คุณก็ต้องแน่ใจว่ากลุ่มคนของคุณเป็นคนมีเงิน มีกำลังซื้อสูง แม้ในยามที่หลายคนประหยัดกัน แต่ถ้าคุณนำเสนอเรื่องหนังสือน่าอ่าน ถ้าคุณนำเสนอหนังสือดี ๆ ราคาไม่แพง หรือบอกได้ว่าแหล่งไหนกำลังลดราคา ก็จะ win-win ทั้ง user และ advertiser ครับ

สังคม – สังคมไทย โดยเฉพาะสังคมวรรณกรรมตอนนี้เปิดมากกว่าแต่ก่อน สมัยก่อนใครเขียนไม่เก่ง หรือไม่มีที่ทางแสดงออก ก็จะต้องไปเขียนหนังสือทำมือ ต่อมาพอมี Blog ก็กลายเป็นว่าใคร ๆ ก็สามารถเป็น publisher ให้กับตัวเองได้ และที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ นักเขียนบางคนเริ่มเห็นว่าการเจริญเติบโตทางปัญญาของไทยขึ้นอยู่กับหนังสือด้วย จนทำให้มีการรณรงค์ให้คนบริจาคหนังสือออกไปสู่ห้องสมุดในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ว่าแล้วก็โฆษณาให้คุณวินทร์ เลียววารินทร์หน่อย http://www.winbookclub.com/content.php

วัฒนธรรม – วัฒนธรรมไทย ๆ คนไทยค่อนข้างเป็นคนง่าย ๆ สบาย ๆ เป็นกันเอง ไม่ชอบอะไรที่เป็นทางการมากจนเกินไป ซึ่งผมขอนิยามว่าชุมชนออนไลน์ไทย เป็นชุมชนที่เรียกร้องความเป็นกันเองค่อนข้างสูง การเลือกใช้ภาษาจะเป็นทางการเกินไปก็ไม่ไหว ยกเว้นเสียแต่ว่าชุมชนคนรักหนังสือของคุณเน้นว่าต้องดูซีเรียส น่าเชื่อถือก็ว่าไปอย่าง

ทั้งนี้ทั้งนั้น แต่ละชุมชนมีมุมมองทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่แตกต่างกัน ลองมองเข้าไปให้ลึก ๆ นะครับจากนั้นเราค่อยสรุปรวบยอดออกมาในแบบที่สามารถวัดผลได้ด้วยตัวเลข เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ (ถ้าคุณไม่ทำธุรกิจก็แล้วไปครับ)

ในเชิงธุรกิจแล้วผมแนะนำว่าให้คุณทำแบบสำรวจขึ้นมาเลยครับว่า คนในชุมชนของคุณเป็นแบบไหน เอาแบบที่วัดเป็น % และสัดส่วนเป็นตัวเลขได้ด้วยยิ่งดีครับ เพราะนักลงทุนเขาจะเชื่อตัวเลข พวกเขาไม่มีเวลามาดูชุมชนของคุณเท่าไหร่อยู่แล้ว หรือถ้าคุณยังไม่พร้อมจะทำแบบสำรวจ ผมแนะนำว่าสำหรับเมืองไทยใช้ truehits เลยครับ ต่างประเทศอาจจะใช้ hitwise ในการเก็บสถิติว่ามีคนย้อนกลับมากี่ % ก็จะช่วยได้ครับ

เอาล่ะครับ วันนี้เท่านี้ก่อนดีกว่า อยากอ่านเรื่องประมาณไหน อยากคุยกันเรื่องไหนในการทำเว็บ เขียนมาคุยกันนะครับ

One Reply to “สร้างชุมชนออนไลน์สไตล์บอกอตัวอ้วน”

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: