การพลิกฟื้นของ Amazon.com

บทความดี ๆ ของ ศ.ดร.พสุ เตชะรินทร์ (คนนี้ผมตามงานแกมานานแล้ว) เพิ่งรู้ว่าเขาเขียนถึงเรื่อง Amazon.com ด้วย เลยเอามาโพสต์ไว้ในบล็อกเสียหน่อย คาดว่าน่าจะมีประโยชน์กับหลาย ๆ คนครับ

———————–
การพลิกฟื้นของ Amazon.com
มองมุมใหม่ : ศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2546

ธุรกิจทางอินเทอร์เน็ตเป็นธุรกิจที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาไม่นาน โดยในช่วงแรกนั้น จะเป็นที่นิยมกันอย่างมากของผู้บริหาร และนักลงทุน แต่ภายหลังเมื่อฟองสบู่ของธุรกิจทางอินเทอร์เน็ตแตกสลาย ก็พบว่า มีเพียงธุรกิจทางอินเทอร์เน็ต เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น ที่ยังสามารถดำเนินงานอยู่ได้อย่างมีกำไร

อาทิเช่น การซื้อขายตั๋วเครื่องบินผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือ e-bay ที่ให้มีการขายและประมูลสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต สำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจทางอินเทอร์เน็ตอีกบริษัทที่เรารู้จัก และคุ้นเคยกันดีอย่าง Amazon.com กลับประสบปัญหาในด้านของกำไร และถึงขั้นที่เคยมีข่าวลือว่า จะต้องถูกซื้อกิจการหรือล้มละลายด้วยซ้ำไป

Amazon เอง เคยได้รับการปรามาสจากนักวิเคราะห์ทางการลงทุนว่าจะไปไม่รอด แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบัน Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของ Amazon จะหันกลับมาบอกนักวิเคราะห์ทั้งหลายที่คิดว่า Amazon จะไปไม่รอดว่า ในที่สุดแล้ว Amazon ก็สามารถที่จะมีกำไรได้ และกลับกลายมาเป็นบริษัทที่มีอนาคตที่สุกใสแล้ว

Amazon ถือเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นมาในยุคที่ธุรกิจทางอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมสูงสุด Amazon ถือกำเนิดขึ้นมาจากการที่ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon มองว่า ในไม่ช้าคนจะเริ่มซื้อของผ่านทางอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น และภายหลังจากการค้นคว้าอย่างถี่ถ้วนแล้ว Bezos มองว่า หนังสือน่าจะเป็นสินค้าที่สามารถขายได้ทางอินเทอร์เน็ต

Bezos ตัดสินใจก่อตั้ง Amazon ขึ้นมา เพื่อขายหนังสือทุกชนิดผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยมีการจัดหน้าเวบไซต์ ให้สะดวกต่อการค้นหาหนังสือประเภทต่างๆ ในระยะแรก Amazon มีความได้เปรียบต่อคู่แข่งขันอื่นๆ อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของร้านหนังสือรายใหญ่ อย่าง Barnes and Noble หรือ Border Books เนื่องจาก Amazon เป็นผู้ที่เข้ามาทำธุรกิจการขายหนังสือบนอินเทอร์เน็ตก่อน และชื่อก็เริ่มเป็นที่ติดปากของคนทั่วไป

การขายหนังสือทางอินเทอร์เน็ตในระยะแรก ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดกำไรมากมาย เนื่องจาก Amazon เองจำต้องลดราคาหนังสือ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาซื้อของที่ Amazon แต่ก็โชคดีที่ไม่ได้มีต้นทุนมากนัก เนื่องจากไม่ต้องมีการลงทุนในด้านของหน้าร้าน หรือการมีสินค้าคงเหลือ

อีกทั้ง Bezos เอง ก็เลือกที่จะไปตั้ง Amazon ที่เมือง Seattle ซึ่งอยู่ใกล้กับศูนย์กระจายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการเก็บรักษาสินค้าไว้เยอะ

โมเดลทางธุรกิจที่ Amazon ใช้ (รายได้พอประมาณ แต่ต้นทุนต่ำเนื่องจากไม่ต้องลงทุนในด้านของสินทรัพย์ถาวร) ถือเป็นสูตรสำเร็จที่ธุรกิจทางอินเทอร์เน็ตทุกรายใฝ่ฝัน ทำให้ในช่วงแรกนักวิเคราะห์ ต่างพากันทำนายถึงความสำเร็จ และรุ่งโรจน์ของ Amazon

อย่างไรก็ดี เมื่อมีคู่แข่งเข้ามามากขึ้น ประกอบกับทาง Bezos ไม่ต้องการขายแต่หนังสือเพียงอย่างเดียว ทำให้ Amazon ขยายเข้าไปสู่สินค้าอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า ของเล่นเด็ก ซีดีเพลง และภาพยนตร์ เครื่องครัว ฯลฯ

ทำให้ในช่วงหลัง Amazon ได้ปรับเปลี่ยนภารกิจของตนเองจากร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดบนอินเทอร์เน็ต เป็นร้านขายของบนอินเทอร์เน็ต จากการขยายตัวในช่วงหลังทำให้ Amazon ต้องมีการขยายการดำเนินงานมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างคลังเก็บสินค้าตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วอเมริกา อีกทั้งยังต้องมีการเก็บสต็อกสินค้าหลากหลายชนิดไว้ เนื่องจาก Amazon ต้องการรักษาจุดเด่นของตนเอง ในเรื่องของการส่งของไปถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็ว

จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ Amazon จำต้องกู้หนี้และออกพันธบัตร เพื่อหาเงินทุนในการลงทุนและดำเนินงาน ซึ่งในช่วงนี้เองที่นักวิเคราะห์และผู้ที่ติดตาม Amazon ต่างเริ่มวิตกถึงอนาคตของ Amazon เนื่องจากผลจากการลงทุนเพิ่มดังกล่าว ทำให้ผลประกอบการของ Amazon เป็นตัวแดงติดต่อกันมาหลายไตรมาส

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คน ก็เริ่มมองว่า การที่ Amazon ลงทุนในลักษณะนี้ ทำให้ลดความได้เปรียบที่ควรจะมีของการทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต ถึงแม้ Amazon จะมีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ แต่ภาระทางด้านดอกเบี้ยก็นับว่าสูงเอาการ จนในช่วงนั้นนักวิเคราะห์บางคนถึงกับเคยพยากรณ์ถึงความล่มสลายของ Amazon ในอนาคต

ซึ่ง Bezos เอง ก็ออกมาโต้ตอบว่า การลงทุนต่างๆ นั้น เป็นการลงทุนเพื่อความสำเร็จในระยะยาว ไม่ใช่สิ่งที่จะมองจากมุมมองระยะสั้นได้ สุดท้ายแล้ว ดูเหมือนว่า Bezos จะหัวเราะทีหลังดังกว่า เนื่องจากในปัจจุบันผลการดำเนินงานของ Amazon เรียกได้ว่าอยู่ในระดับชั้นนำของอเมริกา เนื่องจาก Amazon มีรายได้กว่าสี่พันล้านดอลลาร์ต่อปี

และมีอัตราการเติบโตของรายได้กว่าร้อยละ 20 ในขณะที่ต้นทุนในการดำเนินงาน คลังสินค้า และสินค้าคงเหลือ ก็อยู่ในระดับที่ต่ำมาก ทำให้ Amazon มีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 5 ซึ่งดีกว่าธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด ยกเว้น Wal-Mart ที่ได้ที่ร้อยละ 6

นอกจากนี้ ราคาหุ้นของ Amazon ก็ขึ้นไปสูงสุดในรอบสองปี ถึงแม้ในปัจจุบัน Amazon จะยังไม่มีกำไรออกมา แต่จากแนวโน้มการดำเนินงาน จะเห็นได้ว่าโอกาสในการได้กำไรจะอยู่ไม่ไกล แม้กระทั่งเจ้าพ่อนักลงทุนอย่าง Warren Buffett ก็เริ่มมองเห็นความสำคัญของ Amazon ความสำเร็จในช่วงหลังของ Amazon มาจากการลงทุนในช่วงแรก ประกอบกับการดำเนินงานในด้านคลังสินค้า และการขนส่งสินค้า ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เราก็คงจะต้องดูกันต่อไปนะครับว่า สุดท้าย Amazon จะพลิกฟื้นให้เกิดกำไรตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ และ Bezos จะหัวเราะอย่างสบายอกสบายใจได้หรือไม่

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: