หลับตานึกย้อนหลังไปถึงช่วงปี 2545 เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นหนังสือคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะด้านอินเทอร์เน็ตวางขายอยู่หลายเล่ม และหนึ่งในเล่มที่โดดเด่นมากที่สุดนั้นเล่มค่อนข้างใหญ่ ปกสีส้มวางเด่นอยู่กลางแผง ชื่อ “คัมภีร์ Web Design” หนังสือที่ว่าด้วยพื้นฐานในการออกแบบเว็บไซต์ แน่นอนว่าในช่วงที่ฟองสบู่ธุรกิจดอทคอมกำลังฟูฟ่องนั้น หนังสือเล่มนี้ก็ได้รับอานิสงค์ในด้านยอดขายไปด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มันจะกลายเป็น Best Seller ของซีเอ็ดในช่วงนั้น และได้พิมพ์ซ้ำมากกว่า 3 ครั้ง ต่อจากนั้นก็เริ่มมีหนังสือ “ผ่า! เว็บดัง เจาะไซท์เจ็บ” ซึ่งก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน
หนังสือเล่มนี้เขียนโดยผู้ชายที่ชื่อ มาร์ค ธวัชชัย ศรีสุเทพ
มาร์คเป็นใคร แล้วทำไมผมต้องเขียนถึงเขา?
ที่จริงแล้วมาร์คเป็นชื่อที่เพื่อน ๆ สมัยเรียนที่สหรัฐฯ เรียก แต่จริง ๆ แล้วเขาชื่อ ‘ช้วง’ ผมกับคุณช้วงไม่เคยรู้จักกันมาก่อนจนกระทั่งผมได้เจอเขาในงานของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ได้คุยกันถึงรู้ว่าช้วงอายุอานามมากกว่าผมเล็กน้อย พื้นฐานคือเป็นคนที่ศึกษาเรื่องเว็บดีไซน์มาตั้งแต่ปี 2541 สร้างเว็บให้กับหน่วยงานหลาย ๆ แห่ง และเป็นวิทยากรให้กับองค์กรต่าง ๆ ปัจจุบันดูแลเว็บไซต์ Markmyweb.com และค้นคว้าเรื่องเว็บดีไซน์อย่างจริงจังเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับคนที่สนใจทำเว็บทุกคน (เขาจบปริญญาตรีด้านเภสัชฯ แต่สนใจเรื่องเว็บมากจนกระทั่งเรียนต่อโทด้าน IS)
ช้วงกลับมาเมืองไทยก็เริ่มเขียนหนังสือเรื่อยมา ไม่ว่าจะขายได้หรือไม่มั่นใจว่าขายได้ แต่ถ้าคุณช้วงแกมั่นใจว่าดี แกก็จะออกวางขาย เช่น “รอบรู้ Fireworks MX 2004” ที่เจ้าตัวบอกว่าไปเสนอสำนักพิมพ์ แต่เขาก็ไม่สนใจ เลยพิมพ์เอง พอออกไปแล้วก็ได้รับแรงตอบรับแบบถล่มทลายมาก (ถล่มจนตัวเองทลายไปพักใหญ่ ๆ)
ช้วงยังไม่ยอมแพ้… เมื่อต้นปี 2548 เขาเข็นหนังสือชื่อ “Beginning Web Design – เริ่มต้นสร้างเว็บไซต์อย่างถูกวิธี” หนังสือที่ผมอ่านแล้วคิดว่าน่าจะเป็นหนังสือประกอบการเรียนการสอนด้านเว็บดีไซน์เหลือเกิน เพราะว่าช้วงเขียนได้ครอบคลุมเนื้อหาที่ผู้ดูแลเว็บควรจะรู้ รวมทั้งเบื้องหลังการรวบรวมเนื้อหาจากตำราต่างประเทศนับร้อยเล่มที่ช้วงอ้างอิงถึง ล้วนแล้วแต่เป็นตำราชั้นดีทั้งนั้น ผมได้ส่งหนังสือเล่มนี้ให้คณะกรรมการสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยดูอีกครั้ง และทางสมาคมฯ ก็ได้แนะนำหนังสือเล่มนี้กับสมาชิกว่า หากต้องการหนังสือที่แนะนำการทำเว็บไซต์เบื้องต้น ก็ขอให้ดูหนังสือเล่มนี้
แต่ท้ายที่สุดผลลัพธ์ก็คือยอดขายที่ไม่ค่อยน่าประทับใจสักเท่าไหร่ ถ้าให้พูดตรง ๆ เลยก็คือยอดขายไม่ดี ผิดกับคุณภาพที่ช้วงได้พยายามเขียนและคัดสรรมาให้คนอ่านทุกคน แต่ที่น่านับถือน้ำใจของคุณช้วงแกจริง ๆ ก็คือคำพูดที่ว่า “ผมมีความสุขตรงนี้ ดีใจที่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ ผมตั้งเป้าไว้ว่าจะเขียนออกมาให้ได้สักปีละหนึ่งเล่ม” แล้วคุณช้วงแกก็ทำอย่างนั้นจริง ๆ ครับ คือเขียนออกมาประมาณปีละหนึ่งเล่ม แถมพิมพ์เองอีก เน้นคุณภาพเหลือเกิน
ผมถามแกตรง ๆ ว่าแล้วรายได้จากการขายหนังสือหนึ่งเล่มต่อปีมันไหวไหม แกตอบว่าถ้าไม่ไหวก็จะทำโปรเจ็คต์พิเศษเป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ขายราคาไม่แพง ไม่ต้องมี research back up อะไรมากนัก เช่น “ฟอนต์ไหนดี? – คู่มือฟอนต์เพื่องานออกแบบ” และล่าสุด “ชุดสีโดนใจ – ชุดสีพร้อมใช้สำหรับงานออกแบบ กราฟิก สิ่งพิมพ์ เว็บไซต์และมัลติมีเดีย”
ที่น่าสนใจคือโปรเจ็คต์พิเศษพวกนี้ ขายดีกว่าหนังสือที่ช้วงตั้งใจเขียนมากมาย แต่มันก็ยังไม่ได้มากมายอะไร เพราะช้วงไม่ได้มีแรงโปรโมทเยอะเหมือนสำนักพิมพ์ทั่วไป
สิ่งที่ผมต้องการจะบอกก็คือ ความตั้งใจของช้วง กับตลาดหนังสือคอมพิวเตอร์บ้านเรายังไม่ตรงกันนัก ผมรู้สึกเสียดายถ้าหากว่าวันหนึ่งช้วงเกิดบอกว่าเขียนหนังสือออกมาไม่ไหวแล้ว วงการหนังสือคอมพิวเตอร์เมืองไทยอาจขาดนักเขียนคุณภาพดีไปอีกหนึ่งคน
ซึ่งผมไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้นเลย
สวัสดีค่ะคุณ jakrapong
ดิฉันต้องการติดต่อคุณธวัชชัย เนื่องจากคุณธวัชชัยเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถด้านเว็บไซต์มาก ดิฉันจึงสนใจติดต่อเพื่อให้คุณธวัชชัยเป็นผู้เชี่ยวชาญตรวจเครื่องมือวิจัยให้ค่ะ หากคุณ jakrapong มีเมล ดิฉันขอได้ไหมคะ เพื่อสอบถามว่าคุณธวัชชัยจะสะดวกหรือไม่ประการใด
ขอบคุณมากค่ะ
SIPAI