ในรอบปีที่ผ่านมา การเปิดเกมรุกด้วยยุทธวิธี “Convergence” ของกลุ่ม “ทรู คอร์ป” มีจังหวะก้าวที่น่าติดตาม
ทรู คอร์ป ทำได้ดีอย่างน่าทึ่ง ทั้งผนวก บวก รวม สินค้าในเครือทั้งหมด ไม่นับรวมถึงการต่อระยางสร้างเกม “ขายพ่วง” ไปถึงเซเว่นอีเลฟเว่น ค้าปลีกรายใหญ่ที่กินรวบทั่วประเทศ
ผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นทั้งทรูมูฟ ยูบีซี บอร์ดแบนด์ ซึ่งเป็นผลจากการตลาดขายพ่วงที่รุนแรง น่าจะทำให้ปี 2549 เป็นปีทองของ “ทรู” และเจ้าสัวน้อย “ศุภชัย เจียรวนนท์” แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็นว่า จนถึงขณะนี้ “ทรู” ยังก้าวไม่พ้นวิบากกรรมทางการเงิน
ยิ่งก้าว “รุก” เท่าไหร่ …ภาระทางการเงินของทรู ก็ยิ่งรัดแน่น
เป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ หลังจาก “ศุภชัย” ตัดสินใจรับซื้อคืนหุ้นออเร้นจ์จากต่างชาติ ตามด้วยการซื้อคืนยูบีซี
ทั้ง 2 จังหวะก้าว เป็นไปตามเป้าหมายคือ …ตอบโจทย์การเข้าบริหารเบ็ดเสร็จ เพื่อนำมาต่อจิ๊กซอว์ ระหว่างคอนเทนท์ และ คอนเวอร์เจนซ์
ธุรกิจของทรู ดีวันดีคืน แต่ปัญหาใหญ่คือ หนี้สิน 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย
2549 จึงเป็นอีกหนึ่งปีแห่งความบากบั่นของ “ศุภชัย เจียรวนนท์” และเชื่อว่าปี 2550 “การเงิน” ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของทรูต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
ถ้ามัวแต่เล่นในเกมของผู้อื่น ก็คงต้องเป็น “ผู้ตาม” วันยังค่ำ ว่าแล้ว ศุภชัย เจียรวนนท์ เจ้าสัวน้อย ก็เปิดเกมคอนเวอร์เจนซ์ ที่ “ทรูคอร์ป” ได้เปรียบมากที่สุด เมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมอุตสาหกรรม
ผลเป็นอย่างที่หวัง แต่ยิ่งวิ่งดูเหมือน “ทรู” ยิ่งเหนื่อย แม้มีโอกาสรออยู่บนเส้นทางคอนเวอร์เจนซ์ แต่ประเมินจากฐานะทางการเงินแล้ว “ทรู” ยังต้องลำบากไปอีกนาน
ต้องยอมรับว่าปี 2549 ที่ผ่านมา กลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ภายใต้การนำของศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น มีความเคลื่อนไหวที่โดดเด่น
ธุรกิจในกลุ่มทรูดีวันดีคืน ยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทรูมูฟ, เคเบิลยูบีซี หรือแม้แต่โทรศัพท์พื้นฐาน ซึ่งรายได้จากค่าโทรลดลง แต่เป็นฐานลูกค้าในอนาคตของอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ที่ก้าวกระโดดต่อเนื่อง
นอกจากจะเกิดจากแรงผลักดันด้านไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่เปิดรับเทคโนโลยีมากขึ้น ก้าวกระโดดของทรูคอร์ป ยังเป็นผลจาก Business Model และแผนการตลาด บนธีมที่เรียกว่า “คอนเวอร์เจนซ์” ที่ดีไซน์ออกมาเพื่อ “ทรู” โดยเฉพาะ และต้องยกเครดิตให้ “ศุภชัย” ไปเต็มๆ
“คอนเวอร์เจนซ์” เป็นเกมที่ “ศุภชัย” หมายมั่นจะปั้นให้เป็นสังเวียนรบใหม่ ที่มาพร้อมกับโจทย์ที่ว่า ต้องเป็น “ผู้นำ”
ในเกมคอนเวอร์เจนซ์ ไม่มีใครถนัดกว่า “ทรู” อีกแล้ว เพราะมีบริการหลากหลายที่สามารถต่อติด แต่ผลเชิงธุรกิจที่มี “กำไร” เป็นตัววัด ยังเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ
ปัญหาใหญ่ของทรูที่ติดตัวมาตั้งแต่วิกฤติค่าเงินบาทในปี 2540 คือ “หนี้” ที่พอกพูนอยู่กว่า 8 หมื่นล้านบาท
ทรู กลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่รกรุงรังด้วยหนี้สิน และต้องเผชิญมรสุมต่อเนื่อง รายได้จาก Fixed Line แห้งเหือด ขณะที่มือถือก็ตกเป็นเบอร์รองเสียเปรียบทุกประตู
จากนั้นพันธมิตรสัญชาติอเมริกัน ‘เวอไรซอน’ ในทีเอ และ ‘ออเร้นจ์ เอสเอ’ ประกาศถอนการลงทุนในบริษัททีเอ ออเร้นจ์ ทิ้งหนี้มูลค่า 3.3 หมื่นล้านบาทไว้
ทรู เกือบจะเหมือน “ยักษ์” ที่อนาคตลุ่มๆ ดอนๆ แต่ 2 ปีเศษภายหลังการประกาศคอนเวอร์เจนซ์ นับจากการรับซื้อหุ้นคืนทีเอ ออเรนจ์ ทรูเรียกฟอร์มคืนมาได้อักโข และกลายเป็นผู้กำหนดเวทีใหม่ และดึงคู่แข่งเข้ามาในเกมที่ทรูถนัด
“ไม่ใช่เราไม่เหลืออะไร แต่เราไม่มีอะไรจะเสียมากกว่า และเมื่อเราไม่มีอะไรจะเสีย นั่นคือสิ่งที่เรากำลังจะมี จากความกล้าลงมือเปลี่ยนแปลง เมื่อมีมุมมองที่ดีกว่า”
เป็นแนวคิดที่ “ศุภชัย” ใช้อธิบายกับบอร์ดบริษัท เพื่อก้าวสู่เกมคอนเวอร์เจนซ์ เวทีใหม่ที่เขาเชื่อมั่นว่าจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้กลุ่มทรูได้เปรียบคู่แข่งในอนาคต
และเป็นอีกแรงหนุนสำคัญที่ทำให้ศุภชัยพร้อมชนทุกรูปแบบ เพื่อหนีจากคำว่า ‘ผู้ตาม’
หลังกำหนดกลยุทธ์ชัด ทรูเริ่มเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง จากธุรกิจสื่อสาร ทรูวางตัวเองเป็น “ผู้เติมเต็มไลฟ์สไตล์” พร้อมก้าวรุกซื้อหุ้นคืนจากผู้ร่วมทุนในบริษัทย่อย เพื่อให้สามารถเดินหน้าสู่คอนเวอร์เจนซ์ได้ราบรื่น
” ศุภชัย” รวบรวมโปรดักท์ทั้งหมดมาไว้ในมือ นำมาผสมรวมในเกมบันเดิล ต่อยอดซึ่งกันและกัน เป้าหมายคือ เพื่อให้โปรดักท์ทั้งหมด “เติมเต็มไลฟ์สไตล์” ผู้บริโภค ตามคอนเซปต์ธุรกิจใหม่
นอกจากการซื้อหุ้นทีเอ ออเรนจ์ คืน “ทรู” ยังเดิมพันอีกครั้งกับการตัดสินใจซื้อหุ้น “ยูบีซี” หรือบริษัทยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีรายใหญ่ในประเทศไทย จาก MIH กลับคืนมาทั้งหมด 231,121,441 หุ้น หรือ 30.59%
ทรู ต้องใช้เงินกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท
รวมกับอีกกว่า 313 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นยูบีซีรายอื่นๆ (เป็นเงินกู้จากดอยช์แบงก์ 290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินสดของทรูอีกกว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ผลพลอยได้ คือ ทรูได้รวมเอากิจการ ‘ไอเอสพี’ หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ ‘เคเอสซี’ ที่ MIH ถือหุ้นแถมมาด้วย
ว่ากันว่าเป็นการขยับฐานะ และเพิ่มอำนาจต่อรองกับผู้พัฒนาคอนเทนท์
ภาพการคอนเวอร์เจนซ์จับต้องได้มากขึ้น เมื่อกลุ่มทรูตัดสินใจรีแบรนด์ ทั้งธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จาก “ออเร้นจ์” มาเป็น ทรูมูฟ และใส่ความเป็นทรูให้กับยูบีซี เป็น ยูบีซี ทรู
นอกจากนี้ยังเพิ่มจิ๊กซอว์ให้อาณาจักรทรูอีก 3 ส่วนคือ
ทรู ออนไลน์ อินเทอร์เน็ต และบรอดแบนด์ที่มีแต่จะดีวันดีคืน และเมื่อใดที่ ‘ไว-ไฟ โซน’ เขี้ยวเล็บอันใหม่พร้อมให้บริการ คาดว่าจะมีกำลังซื้ออีกนับล้านที่รอเป็นลูกค้า
ทรู มันนี่ กระเป๋าเงินมือถือ ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายกับการทำธุรกรรมการเงินผ่าน ‘ซิม’
และ ทรูไลฟ์สไตล์ แหล่งรวมความบันเทิงและบริการที่แวดล้อมไลฟ์สไตล์ไฮเทค
ภายใต้ 5 แบรนด์ ถูกร้อยเรียงด้วยคอนเทนท์ใน 4 มิติ คือ Device, เน็ตเวิร์ค, คอนเทนท์ และดิสทริบิวชั่น เพื่อเป้าหมายธุรกิจที่ “ฐานผู้ใช้บริการทรูประมาณ 50% ของครัวเรือนในประเทศไทย”
ช่วงปี 2549 หลายธุรกิจยังละล้าละลังเพราะวิตกปัญหาการเมือง แต่ “กลุ่มทรู” กลับก้าวรุก ชนิดที่เบอร์หนึ่งอย่างเอไอเอสยังไม่ยอมกะพริบตา
เห็นชัดถึงความพยายามพลิกตำแหน่งจาก “มวยรอง” ในธุรกิจสื่อสารทั้งในส่วนของโทรศัพท์บ้านที่ตกเป็นรอง “ทีโอที” และธุรกิจมือถือ ที่อยู่ในตำแหน่งเบอร์ 3 ขณะที่เบอร์ 1 และเบอร์ 2 มีส่วนแบ่งตลาดร่วมกันมากกว่า 80%
ทรู หันมาเป็นผู้กำหนดเกมในสังเวียนมือถือ โดยใช้ “ราคา” เป็นหัวหอก และคอนเทนท์เป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้ปี 2549 เป็นปีที่ ทรูมูฟ ตีตื้นขึ้นมาได้
ไตรมาส 3 ไตรมาสเดียว ทรูมียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 1.4 ล้านเลขหมาย สูงกว่าการเพิ่มของไตรมาส 1 และไตรมาส 2 รวมกันถึง 43%
เป็นผลโดยตรงจากการรุกด้วย “คอนเทนท์” และเกมบันเดิล โดยอาศัยเวที “อะคาเดมี แฟนเทเชีย” หรือ UBCAF 3 โหมโปรโมชั่น เปิดบริการน้องใหม่ ‘ทรูไลฟ์พลัส’ เป็นใบเบิกทางในการเข้าถึงเหล่าสาวก ‘ คนล่าฝัน’
“ยอดผู้ใช้บริการของทรู กระโดดขึ้นเป็น 6.8 ล้านราย” สุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ ผู้อำนวยการด้านการตลาดและการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า กลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ของทรูมูฟ
จำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ของทรูมูฟ เพิ่มขึ้นเป็น 5.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 16.7% ขณะที่รายได้จากบริการประเภท Non Voice ขยับขึ้นมาอยู่ในระบบ 10% ของรายได้ทั้งหมด แต่การเพิ่มขึ้นของจำนวนเลขหมายที่เป็นพรีเพดมากกว่า ก็ทำให้รายได้ต่อเลขหมาย หรือ Blended ARPU ของทรูมูฟ ลดจาก 297….. เมื่อไตรมาส 2 มาอยู่ที่ 277….. ในไตรมาส 3
” บันเดิลไม่ได้ทำให้รายรับที่ควรได้น้อยลง แต่เป็นวิธีที่ทำให้การจ่ายเงินของสมาชิกคุ้มค่ากว่า ขณะที่กระเป๋าใบใหญ่ของทรูก็ได้รับผลประโยชน์ตอบกลับที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ภาพที่สะท้อนชัดเจนคือจำนวนลูกค้าใหม่ของทรูมูฟที่ก้าวกระโดดในไตรมาส 3″ อริยะ พนมยงค์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ทรูมูฟ กล่าว
เขาระบุว่า ทรูมูฟจะยังคงเดินแผนการตลาดภายใต้โมเดลคอนเวอร์เจนซ์ต่อไป เพื่อสานต่อภาพใหญ่ของทรู เน้นที่คอนเทนท์เป็นธงนำ ทั้งในลักษณะของ Retention Program แผนมัดใจลูกค้าทรูมูฟทุกราย ผ่านแคมเปญ ‘ชิงล้าน ชิงร้อยล้าน กับทรูมูฟ’ ซึ่งลูกค้าทรูมูฟจะได้รับสิทธิลุ้นรับทองคำมูลค่า 100 ล้านบาท หรือ ‘Love to Share Album’ อัลบั้มพิเศษของ จีน เพชร และพัดชา AF1-3 ซึ่งลูกค้าต้องแลกซื้อได้เมื่อเติมเงินหรือจ่ายค่าบริการรายเดือน
ทั้งยังมี ไลฟ์สไตล์แคมเปญ เข้าไปสนับสนุนโครงการ ‘ดาวรุ่งลูกทุ่งไทยแลนด์ 2’ หรือแคมเปญพิเศษสำหรับคนหูหนวก เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยแพ็คเกจบริการสื่อสารพิเศษ ซึ่งใช้บริการได้ทั้ง SMS และ ไฮสปีด อินเทอร์เน็ต
“ปลายทางต้องไปให้ถึง คือ เอาความรู้เข้าไปในทุกครัวเรือนของไทยให้ได้ตามประกาศของคุณศุภชัย แต่ระหว่างทางเรายังคงต้องหาลูกค้าใหม่ ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์คอนเทนท์ใหม่เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้”
ถึงแม้หลายอย่างจะดูดี รายได้เพิ่มขึ้นถึง 30% แนวโน้มไปได้สวยในเกมบันเดิล แต่ตัวเลขที่ปฏิเสธไม่ได้คือตัวแดงอีก 739 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 3 ของทรูมูฟ
หันมาดูทาง ยูบีซี ….นับตั้งแต่โอนย้ายเข้าสู่กลุ่มทรูอย่างเต็มตัวเมื่อปลายปี 2549 เส้นทางเดินของยูบีซีก็ชัดเจนขึ้น ในฐานะ “พระเอก” ด้านคอนเทนท์ ที่จะทำให้ ทรู ได้ประโยชน์จากการ ‘คอนเวอร์เจนซ์’ ชัดเจน
จากธุรกิจสื่อสาร ซึ่งเป็นแค่ “ท่อส่ง” ทรูมองไปที่การเป็นผู้ให้บริการ “คอนเทนท์” ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นกระแสหลักในเทรนด์ธุรกิจ และยูบีซี คือธงนำที่สำคัญ
แม้ว่าเคเบิลยูบีซี ยังคงเป็นท่อส่งคอนเทนท์เช่นเดียวกับทรู แต่มีภาษีตรงที่สามารถสร้างคอนเทนท์ของตัวเองได้
ก่อนที่ทรูจะเข้ามาดูแลเบ็ดเสร็จ ยูบีซีมีคอนเทนท์ดังกระหึ่มอย่างอะคาเดมี แฟนเทเชีย อยู่แล้ว บวกกับช่องยูบีซี อินไซด์ สถานีบันเทิงอีกรายการหนึ่ง
ยิ่งเมื่อแนวทางการทำงานของ “ยูบีซี” มีคำว่าคอนเวอร์เจนซ์นำหน้า สถานะของการเป็นเจ้าคอนเทนท์ก็ยิ่งชัดขึ้น
ไม่ใช่แค่ UBCAF ที่แรงไม่หยุดเท่านั้น วันนี้ยูบีซียังพยายามปั้นคอนเทนท์ฝีมือตัวเองอย่างต่อเนื่อง ในรอบปี 2549 ยูบีซีมีช่องรายการใหม่ที่ผลิตเองเพิ่มขึ้นถึง 3 ช่อง คือ ช่องเพลงไทยสากล 2 ช่อง คือ Majung (มะจัง) ทางยูบีซี 34 และช่องทรูมิวสิค ยูบีซี 30 รวมถึงช่องเกม G-Square ยูบีซี 22
ยูบีซีมั่นใจถึงขั้นไม่ต่อสัญญากับสองช่องเพลง เอ็มทีวี และ วีเอชวัน ซึ่งอยู่คู่กับยูบีซีมานาน
การรวบเอายูบีซีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการขยายฐานลูกค้าของกลุ่มทรูให้กว้างมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อยูบีซีเบนเข็มหันมาลงตลาดกลางลงล่าง หรือกลุ่มแมส เนื่องจากฐานลูกค้าระดับบนเริ่มตีบตัน
เห็นได้จากการปล่อยแพ็คเกจ UBC Knowledge Package สำหรับกลุ่มลูกค้าระดับล่าง ต่อด้วยการพ่วงบริการทรูมูฟและยูบีซีกับแพ็คเกจ ยูบีซี ฟรีวิว เพื่อให้ลูกค้าสามารถรับชม 31 ช่องรายการทีวี ทั้งฟรีทีวีช่องพิเศษหรือรายการของทรู ยูบีซี โดยเสียค่าบริการรายเดือน 300 บาท
จำนวนสมาชิกยูบีซีเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้พลังทั้งหมดของกลุ่มทรูเพื่อผลักดัน UBCAF3 จนฮิตติดลมบน วัดจากการโหวตที่มีมากถึง 13.5 ล้านครั้งต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นถึง 43% จาก UBCAF 2 จนเมื่อสิ้นสุดไตรมาส 3 ยูบีซีมีผู้ใช้บริการรวม 529,050 ราย ใกล้กับเป้าหมายที่ยูบีซีตั้งไว้ว่าจะสามารถขยายฐานสมาชิกทะลุ 6 แสนรายภายในปีนี้
นี่คือพลังคอนเวอร์เจนซ์ที่ตกทอดถึงยูบีซี
มองทางด้านโทรศัพท์พื้นฐาน ซึ่งดูเหมือนไม่มีอนาคต แต่สำหรับทรูกำลังถูกชดเชยด้วยบรอดแบนด์ ทำให้รายได้จากการให้บริการยังทรงตัวใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 5,795 ล้านบาท
มองเฉพาะ Consumer Broadband ทรูมียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง……. ผู้ใช้บริการใหม่ Consumer Broadband เพิ่มขึ้น 43,868 คน ในไตรมาสเดียว ทำให้บรอดแบรนด์ของทรู มีผู้ใช้บริการมากถึง 412,742 คนแล้ว และยังมีรายได้เฉลี่ยต่อคนสูงถึง 724 ล้านบาท ส่งผลให้รายได้ด้านนี้ของทรู เพิ่มเป็น 899 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 80% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
บรอดแบนด์ของทรู เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีแนวโน้มสดใสจากยอดผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการขายพ่วง หรือ Bundle เป็นแพ็คเกจร่วมกับบริการอื่นๆ และจากการให้บริการ International Internet Gateway ซึ่งจะทำให้ทรูเป็นลีดเดอร์ในธุรกิจนี้ ทั้งยังขยายไปถึงโฮลเซลส์ด้วย
ถึงกระนั้นในธุรกิจบริการโทรศัพท์ ทรูก็ยังขาดทุนเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 3 ขาดทุน 515 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาสที่ 2 ขาดทุน เพราะยังต้องลงทุนใน Broadband Gateway
จะเห็นได้ว่าในเกม “คอนเวอร์เจนซ์” แม้ทรูจะเป็นผู้นำ เรียกคะแนนนิยมจากกองเชียร์ฝั่งทรู และคนดูขอบเวทีได้ไม่น้อย แต่ถ้าเป็นการวัดผลเชิงตัวเลขกำไร “ทรู” ก็ยังต้องเผชิญกับตัวแดงไม่จบสิ้น
ในไตรมาส 3 ตัวเลขการให้บริการทุกตัวของทรูดีขึ้น มีรายได้ 12,610 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ผลขาดทุน (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการควบรวมกิจการยูบีซี) เพิ่มขึ้นเป็น 745 ล้านบาท และยังมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 3,436 ล้านบาท
ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือน ทรูมีรายได้รวมกัน 37,603 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ผลขาดทุนเท่ากับ 573 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายลงทุนเพิ่มขึ้น 8,291 ล้านบาท
ในมุมของธุรกิจ และการขยายตลาด ทรู ทำได้ดีทีเดียว เพราะยอดผู้ใช้บริการของทุกโปรดักท์เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น แต่เพราะยังตกอยู่ในวังวนของทะเลเลือด และการลงทุนใหม่ที่ต้องทำต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น รายจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับรีไฟแนนซ์ ก็ยังทำให้ฐานะการเงินของทรูอ่อนแอต่อเนื่องไปอย่างน้อยก็ 2-3 ปี
นี่คือวิบากกรรมของ ทรู ?
หนังเรื่องนี้ยังไม่จบ เกมคอนเวอร์เจนซ์ของทรูเพิ่งเริ่มอย่างจริงจัง ทั้งยังโชว์ฟอร์มเจ๋ง ก็คงต้องดูกันต่อไปว่า กลยุทธ์ “คอนเวอร์เจนซ์” บรอดแบนด์ มือถือ และยูบีซี โดยมีคอนเทนท์เป็นตัวขับเคลื่อน จะทำให้ทรูสามารถเดินไปถึงปลายทางธุรกิจที่มี “กำไร” เป็นชัยชนะแห่งความสำเร็จได้หรือไม่
หรือทำได้แค่ขยายฐานผู้ใช้บริการ โดยไม่สามารถแก้ปมหนี้ที่เจ้าสัวน้อย “ศุภชัย เจียรวนนท์” แบกอยู่กว่า 8.6 หมื่นล้านบาทได้
“ในเกมคอนเวอร์เจนซ์ แม้ทรูจะเป็นผู้นำ เรียกคะแนนนิยมจากกองเชียร์ฝั่งทรู และคนดูขอบเวทีได้ไม่น้อย แต่ถ้าเป็นการวัดผลเชิงตัวเลขกำไร “ทรู” ก็ยังต้องเผชิญกับตัวแดงไม่จบสิ้น”
เจ๋งดีกร๊าบบ….. เนือหาละเอียดมาก อ่านสนุก ชอบ ๆๆ สร้างสรรค์ข้อมูลดี ๆ อย่างนี้ให้กับคนทั่วไปได้อ่านอีกเยอะ ๆ นะคับพี่