พบอินเดีย-จีนกลายร่างเป็นสองอภิมหาอำนาจในวงการอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ จากตัวเลขผู้เล่นเน็ตที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี อันดับสามตามจี้มาติด ๆ คือประเทศรัสเซีย
การเปิดเผยดังกล่าวมาจากค่ายคอมสกอร์ เน็ตเวิร์กส์ บริษัทวิจัยตลาดของสหรัฐอเมริกาที่ออกมาประกาศว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปในเดือนมกราคมที่ผ่านมามีจำนวนทั้งสิ้น 747 ล้านคน โดยเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนมกราคมของปี 2006 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นชาวจีนและชาวอินเดียที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด ส่วนประเทศที่มีคนใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดยังคงเป็นของพญาอินทรีอย่างสหรัฐอเมริกา 153 ล้านคนเช่นเดิม
จากตัวเลขดังกล่าวพบว่า อัตราการเติบโตของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในสหรัฐอเมริกาคิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ขณะที่ จีนยักษ์ใหญ่อันดับสองที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 86.7 ล้านคนมียอดการเติบโตถึง 20 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าตัวเลขของคอมสกอร์แตกต่างจากตัวเลขที่รัฐบาลจีนเคยประมาณการไว้ค่อนข้างมาก โดยในมุมของรัฐบาลจีนนั้นเคยประกาศว่า ประเทศตนเองมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ประมาณ 137 ล้านคนแล้ว ซึ่งรายงานข่าวจากเอเอฟพีนิวส์อ้างว่า รัฐบาลจีนอาจจะรวมผู้ใช้ที่เล่นอยู่ตามร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และสถานที่สาธารณะอื่น ๆ เข้าไว้ด้วย จึงประกาศตัวเลขเช่นนั้น
ประเทศที่มีการเติบโตสูงสุดได้แก่ อินเดีย หรือเพิ่มขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 21.1 ล้านคน ทำให้ปัจจุบัน อินเดียอยู่ในประเทศอันดับที่ 8 ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก ตามหลังฝรั่งเศสในอันดับที่ 7
ด้านรัสเซียตามมาห่าง ๆ ด้วยยอดการเติบโต 21 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 12.7 ล้านคน
“ปัจจุบัน จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกยกเว้นสหรัฐอเมริกาคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด และมีการเติบโตสูงมากในประเทศกำลังพัฒนา ดังจะเห็นได้จากการเติบโตที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ทุกปี” บ็อบ อีวินส์ กรรมการผู้จัดการของคอมสกอร์ ประจำภูมิภาคยุโรปกล่าว
สำหรับประเทศที่ประชากรใช้งานอินเทอร์เน็ตนานที่สุดได้แก่ ชาวแคนาดา เฉลี่ยเดือนละ 39.6 ชั่วโมง ตามมาด้วยประเทศอิสราเอล, เกาหลีใต้, สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ซึ่งทั้ง 5 ประเทศนี้มีอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ใช้งานแล้วค่อนข้างสูง
10 อันดับประเทศที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดตามการรายงานของคอมสกอร์ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส อินเดีย แคนาดา และอิตาลี
“แม้ว่านานาชาติจะมีข้อตกลงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่เราพบว่า รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกพยายามควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต” พอลล่า โดเบรียนสกี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมยกตัวอย่างประเทศจีนที่อ้างว่ามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 137 ล้านคนว่ามีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นผ่านทางอินเทอร์เน็ตสูง เช่นเดียวกับประเทศซาอุดิอาระเบีย เมียนม่า คิวบา อิหร่าน ซีเรีย
ในรายงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกายังกล่าวอีกด้วยว่า การที่รัฐบาลจีนพยายามส่งเสริมให้ประชาชนใช้อินเทอร์เน็ต แต่พวกเขาก็ตรวจสอบเนื้อหาข้อมูลต่าง ๆ อย่างเข้มงวด และมีคำจำกัดความเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายออนไลน์ที่ค่อนข้างกว้างมากด้วย