เนคเทคสำรวจอีคอมเมิร์ชไทย มูลค่าซื้อขายกว่า2แสนล้านบาท

ข่าวจาก : ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ : 10 มีนาคม 2550 เวลา 10:57 น.

เนคเทค สรุปผลการสำรวจสถานภาพพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ปี 49 พบเม็ดเงินจากการซื้อขายผ่านออนไลน์มีมูลค่าเกือบ8หมื่นล้านบาท หากรวมการซื้อขายกับภาครัฐ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 220,924 ล้านบาท ประมาณการณ์เติบโตปี 50 ขึ้นอีก40% หลังรัฐออกกฎหมายคุ้มครอง เอกชนขอแรงหนุนจากภาครัฐช่วยดันการใช้งาน ตั้งหน่วยงานกลางรับผิดชอบ

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) รายงานผลการสำรวจสถานภาพพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ประจำปี 2549 ซึ่งการสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันของการดำเนินธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปัญหาและอุปสรรค และข้อมูลเชิงลึกของผู้ประกอบการ เพื่อนำมาวิเคราะห์จัดทำเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาอันเกี่ยวเนื่องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ทั้งในภาพรวมและรายสาขาธุรกิจ โดยทางศูนย์ฯ ได้ทำการสำรวจโดยร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย และสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย

นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า ผลการสำรวจสถานภาพธุรกิจ ครั้งนี้ได้สำรวจจากตัวเลขของปี 2548 ตลอดทั้งปี ซึ่งตัวเลขที่ได้จึงไม่ใช่ตัวเลขของปี 49 ทั้งหมด โดยสำรวจจากเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2549 ทำให้การสำรวจยอดจะสูงกว่า48 แต่มั่นใจว่ายอดตัวเลขมูลค่าทั้งตลาดของปี2549 จะสูงกว่า 48 เพราะรัฐบาลได้มีนโยบายให้หน่วยงานรัฐ ทำการจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบทางอิเล็กทรอนิกส์(อี- อ็อคชั่น) และมีการเบิกจ่ายงบที่แบบทางออนไลน์ ระบบGFMIS ผ่านธนาคาร ด้วยระบบนี้แทนจากการเบิกจ่ายผ่านเช็ค

โดยมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในปี 2548 พบว่าหากรวมข้อมูลการซื้อขายออนไลน์ของภาครัฐจากการจัดซื้อจัดจ้างผ่านอี-อ็อคชั่น ของกรมบัญชีกลางจะทำให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 220,924 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตจากปี 2546 ถึงร้อยละ 71.28 จำแนกออกเป็นธุรกิจ B2B หรือ การซื้อขายแบบธุรกิจกับธุรกิจ ในอัตราร้อยละ 30 หรือ คิดเป็นมูลค่า 66,095 ล้านบาท ธุรกิจ B2C หรือการซื้อขายแบบธุรกิจกับผู้ซื้อโดยตรง ในอัตราร้อยละ 5 หรือประมาณ 11,392 ล้านบาท

ขณะที่ธุรกิจ B2G หรือ การซื้อขายของผู้ประกอบการธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 65 หรือประมาณ 143,437 ล้านบาท เป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากธุรกิจ B2C และ B2G เพิ่มขึ้นจากปี 2546 เป็นร้อยละ 14 และร้อยละ 96.57 ในปี 2548 หากพิจารณาเฉพาะข้อมูลที่ได้มาจากการสำรวจ พบว่า ธุรกิจ B2B คิดเป็นสัดส่วนเป็นร้อยละ 85 ขณะที่ธุรกิจ B2C คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15

“ผลสำรวจที่ได้เราประมาณการณ์ได้ว่าตัวเลขการซื้อขายผ่านเว็บในปีนี้จะเติบโตสูงขึ้นอีก40%”

เขายังกล่าวอีกว่า ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น และยังไม่ได้พัฒนาถึงขั้นใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในการซื้อขายสินค้าและบริการอย่างจริงจัง โดยพิจารณาได้จากการที่ธุรกิจที่มีเว็บไซต์และมีระบบรองรับคำสั่งซื้อสินค้า หรือมีบริการรับชำระเงินผ่านเว็บไซต์มีอยู่เป็นจำนวนน้อย โดยคิดเป็นร้อยละ 22.55 และร้อยละ 27.64 โดยจะเป็นธุรกิจ B2C ถึงร้อยละ 75 และส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก โดยพิจารณาจากจำนวนพนักงานและเงินทุนจดทะเบียน โดยธุรกิจร้อยละ 67.45 มีจำนวนพนักงานที่ทำงานเต็มเวลา 1-5 คน และร้อยละ 55.93 มีเงินทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 500,000 บาท

ธุรกิจส่วนใหญ่ใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด และประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการมากกว่าจะใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการหรือการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่มากนัก ทางด้านของระบบชำระเงินออนไลน์ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้บริโภคนิยมการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน

ส่วนระบบการชำระเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ การชำระเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง ( e-Banking หรือ Internet Banking) (ร้อยละ 20.28) การชำระเงินออนไลน์ผ่านบัตรเครดิต (ร้อยละ 20.15) และการชำระเงินออนไลน์ผ่านผู้ให้บริการกลาง (ร้อยละ 19.72)วิธีการจัดส่งสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดทั้งกับธุรกิจ B2B และ B2C ยังคงเป็นการจัดส่งด้วยไปรษณีย์ (ร้อยละ 61.59) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้บริการโดยธุรกิจ B2C ที่จำหน่ายสินค้าภายในประเทศ และมีปริมาณสินค้าที่ซื้อขายแต่ละครั้งไม่สูงนัก ไปรษณีย์จึงเป็นทางเลือกที่สะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด

สำหรับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แบ่งออกเป็นอุปสรรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า อาทิ กลัวการขโมยข้อมูลบัตรเครดิต กลัวปัญหาการฉ้อโกง เช่น ซื้อสินค้าแล้วแต่ไม่ได้รับของ ไม่เห็นสินค้าก่อนสั่งซื้อ/สั่งจอง กลัวการขโมยข้อมูลที่ใช้ระบุตัวบุคคล ต้องการให้ผู้ขายสินค้า/บริการพูดคุยมากกว่าการติดต่อกันทางอินเทอร์เน็ต

ส่วนอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการประกอบการ พบว่า ภาคธุรกิจให้ความสำคัญมากกับปัญหาการขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายและการเสียภาษี การขาดการสนับสนุนเงินทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขาดความเชื่อมั่นในการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

มาตรการที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลเร่งส่งเสริมธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 5 อันดับแรก ได้แก่ จัดให้มีมาตรการส่งเสริมหรือจูงใจการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์หน่วยงานที่ทำหน้าที่ติดตามปัญหาและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งเสริมให้มีนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้ซื้อและผู้ขายออนไลน์ จัดทำการประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นสากล

“ในปีนี้คาดว่าจะตั้งสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมาจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ยกระดับการทำงานสูงขึ้นและขยายความรับผิดชอบ หน่วยงานนี้จะมีฐานะเทียบเท่าระดับกรม เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมเกิดความชัดเจนขึ้น โดยระหว่างนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการ ซึ่งเรื่องได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการเห็นชอบจากทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)”นายพันธ์ศักดิ์กล่าว

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: