ธุรกิจดอทคอม

เจอเจส ที่สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยบอกว่าอยากให้กรรมการสมาคมช่วยกันเขียนบทความส่งลงหนังสือรายงานประจำปี เลยไปเอาบทความเก่าที่เคยเขียนไว้มาปรับปรุงใหม่

– – – – – – – – – – – – –

สร้างฐานลูกค้ากันก่อนดีกว่าไหม?

ระยะหลังๆ นี้ผมไม่ค่อยได้อยู่ที่เมืองไทยเนื่องจากย้ายมาทำงานต่างประเทศ ทำให้พอจะมีเวลาได้อยู่กับตัวเอง ได้ครุ่นคิดถึงสิ่งที่ผ่านมาในวงการอินเทอร์เน็ตไทยแบบคนนอกมองคนในมากยิ่งขึ้น และผมขอออกตัวก่อนนะครับว่าสิ่งที่ผมเขียนวันนี้เป็นแค่ความคิดเห็นของผม อาจจะมีทั้งถูกและผิด ถ้ามีอะไรก็เขียนท้วงหรือมาอัพเดทกันได้ที่บล็อกของผมนะครับ jakrapong.com

ผมครุ่นคิดในประเด็นที่ว่า ทำไมศักยภาพของธุรกิจอินเทอร์เน็ตไทยถึงยังเติบโตได้ช้าเมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่เขาโตเอาๆ เป็นข่าวอยู่ทุกวี่ทุกวัน ถ้าวัดกันด้วยเม็ดเงินก็ดูจะแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือขนาดทางเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ใหญ่มาก มูลค่าทางเศรษฐกิจของสินทรัพย์ทางอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่ได้มีมูลค่าสูงมาก

แต่นี่ล่ะคือโอกาสที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าบริษัทที่ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ตสัญชาติไทยไม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้เท่าไหร่  รายได้ที่ยังไม่มาก จำต้องอาศัยรายได้อื่นเสริม เช่น ทำเว็บขายแบนเนอร์อย่างเดียวไม่พอ เดี๋ยวนี้ต้องขายออดิโอเท็กซ์ 1900 พ่วง ต้องขายคอนเทนท์บนโทรศัพท์มือถือ ประเภทริงโทน คอลลิ่งเมโลดี้ ระยะหลังๆ นี้มีเพิ่มมาอย่างหนึ่งก็คือ รูปแบบการโฆษณา ที่เสิร์ชเอ็นจิ้นวางตัวเป็นตัวกลางในการโฆษณาเอาโฆษณามาแปะในเว็บไซต์แล้วแชร์เงินกันไประหว่างเสิร์ชเอ็นจิ้นในฐานะตัวแทนโฆษณาและเจ้าของเว็บไซต์ หาบริษัทที่จะจัดตั้งทำด้านดอทคอมจริงๆ ลำบากมาก

บริษัทที่ถือว่าเป็นผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตบ้านเราก็มีหลายแบบครับลองไล่เรียงกันดู เขาทำอะไรกันบ้าง

1.  Internet Service Provider (ISP) ที่ผ่านมาทำสงครามราคากันดุเดือดเลือดพล่านมาก เราไม่ได้มองที่มูลค่าแท้จริงในการลงทุนกันเท่าไหร่ แต่เราพยายามสร้างฐานลูกค้าให้มากที่สุดมากกว่า ส่วนตัวแล้วผมไม่เคยเห็นรายได้ที่แท้จริงจากผู้บริโภคทั่วไปแบบ B2C เลยครับ มีแต่การขายระดับองค์กรแบบ B2B ที่  ISP เขาเข้าไปขาย leased line ให้กับบริษัทต่างๆ ที่ต้องการระบบเครือข่าย และบริการอินเทอร์เน็ตในออฟฟิศเท่านั้นเอง ตอนนี้อยู่ที่ว่าใครสายป่านยาวกว่ากัน แล้วใครจะให้บริการได้ดีกว่ากันภายใต้สงครามราคาที่โหดร้ายนี้ ผมเคยขอความรู้จากผู้บริหารระดับสูงของ ISP แห่งหนึ่งในบ้านเราตอนนี้ เขาก็ยอมรับครับว่ารู้ทั้งรู้ว่าสงครามนี้ไม่ดี แต่ก็ต้อง ‘กลืนเลือด’ อดทนไว้เพื่ออนาคต  ตอนนี้เห็นว่าบางรายเดินเกมเรื่องดาวเทียมเสร็จแล้ว อาจจะมีอะไรดีๆ ตามมาสำหรับผู้บริโภคครับ

2.  บริษัทตัวแทนโฆษณาออนไลน์ บ้านเราเมื่อก่อนนี้ก็มีไม่กี่บริษัท ตอนนี้เริ่มขยับตามกันมาเรื่อยๆ เพราะรายได้จากการโฆษณามันเห็นกันชัดๆ  บริษัทรับทำเว็บทั่วๆ ไปเมื่อก่อนนี้ก็ปรับตัวกลายมาเป็นบริษัทตัวแทนโฆษณากันมากขึ้น บริษัทตัวแทนโฆษณารายใหญ่ๆ ก็ตั้งบริษัทลูกขึ้นมารองรับเยอะแยะ เช่น SC Matchbox ก็เปิดบริษัทลูกอย่าง Adaptor ขึ้นมา บริษัทตัวแทนโฆษณานี่ล่ะครับที่จะเป็นกำลังสำคัญ คนทำเว็บไทยควรจะรู้วิธีที่จะทำงานกับบริษัทตัวแทนโฆษณาออนไลน์ให้มากเข้าไว้

3.  Software House ที่ทำเว็บแอพพลิเคชั่น/ บริษัทรับทำเว็บ/ บริษัทเกมออนไลน์/ บริษัท คอนเทนท์บนโทรศัพท์มือถือ/บริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนที่ ไดเร็คทอรี่ ฯลฯ

4.  บริษัทแนว Brick & Mortar คือบริษัทดั้งเดิมที่ต้องการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ อาจจะเปิดเว็บขึ้นมารักษาฐานลูกค้า หรืออำนวยความสะดวกในการทำจัดส่งและการขาย ตัวอย่างชัดๆ ก็เช่น Manager.co.th เว็บของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการที่อัพเดทข่าวให้เราๆ ท่านๆ อ่านกันได้ 24 ชั่วโมง (จนกลายเป็นเว็บข่าวที่คนติดตามมากที่สุด) หรืออย่างบล็อก Oknation.net ของกลุ่มเนชั่น หรือแม้แต่สมุดหน้าเหลืองก็มีเว็บอย่างเว็บ YellowPages.co.th เพื่อให้ผู้ใช้ที่ต้องการค้นหาเบอร์โทรศัพท์ของบริษัทร้านรวงต่างๆ สะดวกมากขึ้น

5.  บริษัทแนวดอทคอมเพียวๆ  (และเป็นบริษัทในแนวที่ผมต้องการพูดถึงในบทความนี้) มักจะทำเว็บไซต์เป็นผลิตภัณฑ์หลัก และทำตัวเป็นสื่อออนไลน์มักจะมุ่งให้บริการฟรีกับผู้ใช้เว็บไซต์แต่เน้นรายได้จากโฆษณา เช่น Sanook.com Kapook.com ThaiSecondhand.com ซึ่งกำลังมีการเปลี่ยนแปลงสูงเพราะการเข้ามาของเว็บไซต์ระดับโลกหลายๆ เจ้า เช่น Yahoo.co.th, Google.co.th, Ebay.co.th

บริษัทแบ่งรายได้ที่เป็นเม็ดเงินชัดๆ ออกเป็นสามส่วน คือ
1.โฆษณาออนไลน์
2.ค่าบริการจัดจ้างจัดทำ เช่น ค่าใช้บริการทั้งออนไลน์และออฟไลน์, โฮสติ้ง, จัดทำเว็บไซต์, Software
3.รายได้อื่น ๆ จากผู้ใช้งานเว็บไซต์ เช่นบริการ VoIP สำหรับคนไทยไกลบ้าน หรือชาร์จผ่าน SMS ว่ากันไป

ซึ่งทั้งสามส่วนนี้ ตามหลักการทั่วๆ ไปแล้วน่าจะทำรายได้ดีกว่านี้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ  เราจำเป็นต้องแบ่งรายได้ที่ได้รับมาออกไปให้กับ Partner รายอื่นๆ ของเรา ยิ่งบริษัทแนวดอทคอมเพียวๆ บริษัทเหล่านี้ share ส่วนแบ่งยอดโฆษณาจากสื่อเดิมๆ ไปได้นิดเดียว แต่ที่น่าสนใจคือมันกำลังโตวันโตคืน ด้วยตัวเลขผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี 

ทั้งหมดนี้ ผมเพียงต้องการจะบอกว่าในขณะที่อินเทอร์เน็ตกำลังเติบโต ทีท่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยกลับน้อยเกินไปบวกกับคนทำเว็บไทยก็ยังไม่ได้สร้างนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ให้นักลงทุนรู้สึกว่าน่าลงทุนครับ จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของบ้านเรา 12.1  ล้านคน* (IDC, พ.ศ.2549) ซึ่งจะว่าไปก็ถือว่าไม่น้อย บวกกับธรรมชาติของธุรกิจดอทคอมที่เริ่มต้นได้ง่าย ถ้าพูดถึงทุนจดทะเบียนของบริษัทดอทคอมบ้านเราที่ผมเคยเห็นมาสูงสุดก็คือ  200 ล้านบาท (สามารถเข้าไปเช็คได้จากเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ครับ) นอกนั้นก็มีบ้างที่เป็น 10 ล้าน บ้าง 6 ล้านบาท บ้างก็ 1 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนใหญ่ที่เจอๆ มาจะเป็นแค่หลักแสน หรือไม่อยู่ในรูปแบบพาณิชย์ใดๆ เลยก็มี เพราะอินเทอร์เน็ตเริ่มต้นได้ง่ายไม่ต้องใช้ทุนเยอะ ดังนั้นการเติบโตของดอทคอมบ้านเรานั้นมีโอกาสเกิดเยอะ แต่จะต้องอาศัยนักลงทุนที่เชื่อมั่นและให้โอกาส บวกกับ ‘ไอเดียแรงๆ’ ของคนทำเว็บที่สร้างให้ผู้ใช้นิยมในตัวเว็บไซต์ให้มากที่สุด ซึ่งการจะดึงคนมาได้มันก็ต้องอาศัยการสร้าง User experience ที่ดี

ถ้าเรามองว่าเศรษฐกิจคือ การกระทำใดๆ อันก่อให้เกิด การผลิต การจำหน่ายและการบริโภค ทุกอย่างในขั้นตอนการผลิตก็จะต้องตีค่าเป็นเงินได้ มีราคาค่างวดในการจำหน่าย และได้รับคืนในรูปแบบของราคาสินค้า แต่บริษัทอินเทอร์เน็ตแนวดอทคอมไม่ต้องบอกว่าแค่เมืองไทยนะครับ แต่แทบจะทั้งโลกมันเป็น ‘Free media’ สำหรับผู้ใช้ไปแล้ว รายได้ที่มีจึงเป็นรายได้ที่มาจากโฆษณาเป็นส่วนใหญ่ สำหรับผม ผมมองว่าวงการอินเทอร์เน็ตไทยยังมีช่องทางไปได้อีกเยอะ แต่อย่างที่เขียนไว้ข้างต้นครับว่าจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนด้วยการที่บริษัทดอทคอมดังกล่าวจะต้องมีไอเดียที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และพิสูจน์ว่าตัวเองได้รับความนิยมจากผู้ใช้มากแค่ไหน ไอเดียคุณแรงแค่ไหนที่จะสร้างความแตกต่างในตลาด ทำอย่างไรที่จะฉีกเว็บของคุณออกจากวังวนของเว็บแบบเก่าๆ เดิมๆ ที่สิบปีก่อนทำอะไร เราก็ยังทำอย่างนั้นอยู่ คุณคงจะเริ่มเห็นแล้วนะครับว่าวันนี้เว็บระดับโลกก็เดินเข้ามาเมืองไทยหลายเจ้าแล้ว

เกมของอินเทอร์เน็ตไทยในวันนี้เท่าที่ผมมองคือ สร้างฐานลูกค้า ด้วยการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์ เรื่องเงินวางไว้ก่อนไม่อย่างนั้นมันจะไปบดบังไอเดียของคุณซะหมด ผมเคยเจอหลายๆ บริษัทที่วางรูปแบบธุรกิจน่าสนใจ แต่ขาดการเอาใจใส่ดูแลความต้องการของคนใช้ ดังนั้นตอนนี้มันเป็นเวลาของการสร้างสิ่งใหม่ๆ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้มากเข้าไว้ มากพอที่จะดึงดูดให้คนเข้ามาใช้อย่างสร้างสรรค์ ตอนนั้นถ้าคนใช้เยอะแล้ววางแผนโฆษณาออนไลน์ตอนหลังก็ได้ไม่แปลกอะไร ใช้โฆษณาเป็นทัพหน้าในการสร้างรายได้ก่อนที่จะตามด้วยการชาร์จค่าบริการ

และท้ายสุดถ้านักลงทุนไทยไม่สนใจที่จะคว้าโอกาสนี้ โอกาสก็จะตกเป็นของนักลงทุนต่างประเทศที่สนใจในธุรกิจดอทคอมไทยซึ่งต่างชาติเขามองว่ามันมีศักยภาพและให้ความสำคัญมากนะครับ

One Reply to “ธุรกิจดอทคอม”

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: