ธุรกิจอินเทอร์เน็ตไทยในช่วงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

ขอออกตัวนะครับว่า นี่เป็นเพียงความคิดเห็นเล็กๆ ของผมคนเดียว ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่อยู่ในวงการอินเทอร์เน็ต ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ทำงานอยู่ อาจจะถูกบ้างผิดบ้าง หลังจากนี้อยากให้ช่วยคอมเมนต์กันมาด้วยนะครับ จะมองเหมือนผม หรือมองต่างก็ได้ครับ ขอเชิญแลกเปลี่ยนกันหลังจากอ่านจบนะครับ

– – – – –

ในวันนี้หลายคนคงเห็นแล้วว่าศูนย์กลางอินเทอร์เน็ตโลกที่ซิลิคอน วัลเลย์เริ่มส่อเค้าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หลังจากการล้มของบริษัททุนยักษ์ใหญ่ Lehman ไล่ไปจนถึงตลาดหุ้น NASDAQ มีมูลค่าการซื้อขายตกลงมหาศาล หุ้นตกกันระนาว ลามมาถึงธุรกิจอินเทอร์เน็ตที่เมื่อปีสองปีที่แล้วควบมากับกระแสฟองสบู่ดอทคอมในชื่อ “Web 2.0” ตอนนี้ก็กระทบแล้วอย่าง Yahoo! จากปีที่แล้วที่ผลประกอบการดีๆอยู่นั้นอยู่ที่ 33 เหรียญต่อหุ้น ตอนนี้ 13-14 เหรียญต่อหุ้น และคู่แข่งอย่าง Google จากปีที่แล้ว 700 กว่าเหรียญต่อหุ้น ตอนนี้ 300 กว่าเหรียญต่อหุ้น และดูรายอื่นๆ eBay, Amazon และเจ้าอื่นๆ ก็ลงกันถ้วนทั่วครับ มันทำให้ผมนึกถึงช่วงฟองสบู่ดอทคอมครั้งแรกที่แตกช่วงปี 2000 ช่วงนั้น ดูมันคล้ายกันนะครับ

แต่…

ความต่างระหว่างฟองสบู่ดอทคอมคราวที่แล้วกับคราวนี้ ส่วนหนึ่งมันคือความผิดพลาดในการประเมินคุณค่าทางธุรกิจดอทคอมสูงเกินความจริง ไม่ได้ดูที่ core value จริงๆ ของธุรกิจ แต่ในคราวนี้ มันคือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจริงๆ ไม่ใช่ว่าเราประเมินมันสูงเกินไป ดังนั้นอินเทอร์เน็ตไม่ได้ล้มเหลว แต่มันกำลังเผชิญหน้ากับความเป็นจริงในโลกธุรกิจ

ถามว่าในเมืองไทยกระทบอะไรบ้างไหม ผมว่ากระทบในเชิงของธุรกิจโฆษณาออนไลน์ และธุรกิจบริการทั่วไปเป็นหลัก กล่าวคือ ในภาพรวมแน่นอนว่าตลาดหุ้นแห่งประเทศไทยมีมูลค่าจาก 1000 กว่าจุดในสี่ห้าปีก่อน จนการซื้อขายตกลงมาเหลือ 400 กว่าจุด มันก็ชัดล่ะครับว่าต่อไปนี้เศรษฐกิจของเราในไม่กี่ปีข้างหน้า ในภาพรวมคงทำให้ดูสดใสได้ลำบากหน่อย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การเมืองที่รุมเร้า, ราคาน้ำมัน

แต่ในช่วงภาวะวิกฤตมันก็ยังมีโอกาส

โอกาสที่ว่าก็คือ ในช่วงที่บริษัทต่างๆ คงต้องลดงบประมาณต่างๆ ลง ไม่ว่าจะเป็น งบการโฆษณาประชาสัมพันธ์ งบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไม่ได้ลดลง อินเทอร์เน็ตซึ่งมีต้นทุนในการโฆษณาที่มีราคาถูกกว่า Mass media ทั่วไป และสามารถวัดผลได้ชัดเจนน่าจะมีโอกาส ทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่ลดต้นทุนในการผลิตและจัดจำหน่าย อย่างโฆษณาทีวียิงทีนึง 30 วินาทีหลายแสนบาท แต่อาจจะซื้อ Display ad บนอินเทอร์เน็ตได้ทั้งเดือน ทั้งยัง engage ลูกค้าไว้กับแบรนด์ได้ชัดเจน

ในจังหวะนี้การวางแคมเปญโฆษณาจะต้องถูกลงแต่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้เยอะเท่าเดิมหรือมากขึ้น การทำ Integrated marketing ผนวกกับการดึงลูกค้าไว้ให้ติดกับแบรนด์ผ่านอินเทอร์เน็ตจะต้องถูกกระตุ้นให้ทำมากขึ้น เช่น เป็นไปได้ไหมว่ารายการโทรทัศน์ หรือรายการวิทยุ ที่ผลิตรายการดีๆ จะจัดให้มีการ engage ผู้ชมผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ตมากขึ้น ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการผลิตรายการอย่างเป็นรูปธรรม เช่น เปิดรับไอเดียของผู้ชมทางบ้านว่าอยากให้ใครมาเป็นแขกรับเชิญในครั้งต่อไป นิตยสารเปิดให้ผู้อ่านเลือกนายแบบนางแบบบนปกเล่มต่อไป และนำไอเดียนี้ไปขยายต่อทางการตลาดว่าจะ optimize ให้เข้ากับการโฆษณาได้อย่างไร

ตัวอย่าง
นิยสารวาไรตี้ฉบับหนึ่ง มีฐานผู้อ่านอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ นิตยสารอาจเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจะซื้อน้อยลง ทำอย่างไรที่นิตยสารจะปรับตัวให้แบรนด์อยู่คงทน ลดต้นทุนได้ดี นั่นก็คือลดจำนวนการพิมพ์ให้สอดคล้องกับจำนวนยอดผู้ซื้อที่จะลดลง หรือปรับขนาดของกระดาษให้เล็กลง แล้วเปิดเว็บไซต์แนว Community ที่ดึงคนอ่านไว้กับแบรนด์ของนิตยสาร เอาเนื้อหาบางส่วนวางไว้ในเว็บไซต์ เช่น ภาพที่มีจำนวนเยอะแล้วเปลืองเนื้อที่กระดาษไปใส่เว็บ เปิดให้ผู้อ่านนิตยสารมีส่วนในการชี้นำว่าผู้อ่านต้องการอะไร เช่น ผู้อ่านบอกว่าต้องการให้มีเซ็คชั่น DIY จัดห้องเองให้เก๋ได้อย่างไร เราก็ปรับนิตยสารไปตามความต้องการของผู้อ่าน เอาตัวเลขนี้ไปยันกับเอเจนซี่โฆษณาว่าผู้อ่านต้องการอย่างนี้

ผลที่ออกมาก็คือ เราสามารถลดต้นทุนในการพิมพ์ได้ แต่เนื้อหาที่เราต้องการนำเสนอนั้นตรงใจผู้อ่านเท่าเดิมหรือมากขึ้นได้ โดยไม่มีทุนสูงขึ้น แถมทำให้ Interactive มากขึ้นด้วยวิดีโอ คนเล่นเน็ตได้่อ่านนิตยสารทางอินเทอร์เน็ตฟรีบางส่วนก็รู้สึกว่าได้อ่านนิตยสารนี้อยู่ตลอดเวลาไม่เคยขาด แถมขายโฆษณาบนเว็บของนิตยสารนี้ควบคู่กันไป นั่นคือนิตยสารสามารถใช้อินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงผู้อ่านได้ทั้งสองทาง โดยมั่นใจได้ว่าผู้อ่านจะเห็นโฆษณาทั้งทางนิตยสารและทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าผู้อ่านจะซื้อหรือไม่ซื้อนิตยสารก็ตามที

บางคนอาจจะบอกว่ามันกินเนื้อตัวเอง คือคนก็จะอ่านแต่ทางอินเทอร์เน็ต ไม่อ่านนิตยสาร ผมไม่คิดอย่างนั้น เพราะอย่างไรเสียสื่อสิ่งพิมพ์จะต้องมีจำนวนการขายลดลงตามแนวโน้มตลาดอยู่แล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ที่มี Manager.co.th ถามว่าวันนี้ลงทุนกับเว็บเยอะไหม เยอะ แต่แหล่งข่าววงในก็บอกมาว่ายอดหนังสือพิมพ์กลับมาดีขึ้นเช่นกัน เพราะผู้อ่านเชื่อในแบรนด์ของผู้จัดการมากขึ้นว่าจะมีข่าวที่ไวและอัพเดทให้ตลอดเวลา

ในภาวะแบบนี้เราจำเป็นต้องปรับตัว โดยใช้คุณลักษณะความเป็น Free media ของอินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์และใช้ให้เหมาะสมด้วยเหตุผลที่เขียนมาทั้งหมดข้างต้น ผมจึงเชื่อว่า ด้วยการที่มันสามารถลดต้นทุนในการนำเสนอ และลดต้นทุนในการเข้าหากลุ่มผู้บริโภค ทั้งยังสามารถ engage ผู้บริโภคได้ด้วย Community เพราะไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้นั้น

ธุรกิจอินเทอร์เน็ตไทยในช่วงนี้ผมค่อนข้างมั่นใจว่ามันจะไม่แย่ลงอย่างที่หลายคนคิด หากแต่เป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ตัวเองต่างหากว่า เราจะปรับใช้มันอย่างไรให้ผู้บริโภค ผู้โฆษณา ผู้ผลิตสื่อ ทุกๆ ฝ่ายได้ประโยชน์ในวันที่โลกของสื่อไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว