ภาษาเพื่อธุุรกิจบน Twitter

ผมเคยเขียน การใช้ Twitter สำคัญในแง่การตลาดอย่างไรไปแล้ว ก็มีฟีดแบคกลับมาว่าชอบ เอาไปให้เพื่อนอ่านบ้าง เอาไปให้เจ้านายอ่านบ้าง แต่หลังจากนั้นก็ไม่เกิดอะไรขึ้น เหมือนกับอ่านแล้วก็ “เออ ดี โอเค แล้วไง?” ผมเลยมานั่งดูอีกทีปรากฏว่า ที่ผมเขียนไปคราวที่แล้วมันดูเป็นเหมือนกับกรณีศึกษากว้างๆ ไม่ได้เจาะลึกลงในรายละเอียดว่า ถ้าจะทวีตกันจริงๆ เพื่อธุรกิจมันควรจะเป็นอย่างไร มาดูกันเลย

กำหนดคาแรกเตอร์ของคนทวีต ใช้ภาษาพูดกับเพื่อน และอย่าใช้ภาษาการตลาดแบบเดิมๆ
เวลาเราคุยกับเพื่อน เราคุยแบบนึง เวลาคุยกับครูบาอาจารย์ หรือไปบรรยายวิชาการที่ไหนภาษาย่อมแตกต่างกัน ใน Twitter หรือ Social Media ตัวอื่นๆ ก็เช่นกันครับ อย่างผมเป็นผู้ชาย อาชีพทำการตลาด อายุสามสิบกว่าๆ ถ้ามาเขียนแนะนำบล็อกว่า “อ๊าย สวัสดีจ้า ว่างายทุกคน วันนี้อัพบล็อกแล้วน๊า http://bit.ly… ใจจ้าาาา” อันนี้ก็คงไม่ใช่ คงถูกหาว่าไม่บ้าก็เพี้ยน แต่ถ้าจะเขียน มันก็ควรจะเป็น “สวัสดีครับ พอดีมีคนแนะมาว่าวันก่อน อ่านที่เขียนเรื่อง Twitter แล้วปรับใช้ยากไป อัพเดทแก้ไขใหม่แล้ว เชิญอ่านเลย http://bit.ly…” ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรจะเป็นภาษาแบบการตลาดแบบพีอาร์พิมพ์ข่าวแจกส่งให้นักข่าวหนังสือพิมพ์แบบเดิมๆ ที่เขียน “อัพเดทแล้ว! กับบทความล่าสุด “ภาษาการตลาดบน Twitter” คลิกด่วน! http://bit.ly…” หรือถ้าคุณจะใช้ตัว Mascot แบบน้องอุ่นใจของ AIS ก็ต้องกำหนดออกมาว่าน้องอุ่นใจ ถ้าเป็นคน เขาจะพูดแบบไหน เพราะประเด็นสำคัญก็คือ คุณต้องทำให้ภาษาที่ใช้ทวีตนั้นมีความเป็นมนุษย์มากที่สุด ผมเคยเจอนะครับลูกค้ารายนึงที่ Yahoo! นี่แหละ ผมแนะนำว่าลองใช้ Twitter ผสมกับแคมเปญไปด้วยสิ เขากลัวมากถึงกับขนาดที่ว่าเวลาทวีตไปแล้วขอใส่ลิงก์ “Disclaimer” เข้าไปอีกอันได้ไหม อันนี้ไม่เวิร์คเลย

140 คาแรกเตอร์อ่านปราดเดียวแล้วเข้าใจเลย
อย่างที่เราทราบกันดีว่า Twitter มีข้อจำกัดทางตัวอักษร 140 คาแรกเตอร์ แต่มันก็เป็นข้อจำกัดที่สอนให้เรารู้จักทวีตให้กระชับ ได้ใจความ ดังนั้นภาษาที่เราจะเขียนใน Twitter จะต้องกระชับ เข้าใจง่าย อย่างเวลาเราทวีตไป พยายามให้มันจบใน 140 ตัวอักษรจะดีมากครับ ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณมีแฟนๆ ติดตามคุณเยอะมากแล้วรู้ว่าคุณจะทวีตยาวๆ เหมือนกับถ่ายทอดสด หรือที่ชาวทวิตเตอร์เรียกกันว่า “LIVE” แบบที่ @thaishortmews ทำทุกๆ คืน อย่างนี้ก็ว่าไปอย่าง

Marketing message ต้องเนียน แต่อย่าเนียนแบบโกหก ต้องเนียนแบบจริงใจ
ผมเคยคุยกับทีมงานเว็บ Jeban.com ทีมงานเล่าให้ผมฟังว่ามีคนชอบมาทำ “เนียน” แอบขายของตัวเองด้วยการเขียนรีวิวชมเครื่องสำอางตัวเอง แต่ของแบบนี้มันดูออกครับ ใน Twitter ก็เช่นกัน เราอย่าตีเนียนแบบโกหก ให้คุณบอกกับทุกคนไปเลยว่าคุณทำงานที่ไหน เขียน Disclosure ในโปรไฟล์ Twitter ไปเลยยิ่งดีครับ เวลาเราจะใส่ Marketing message ก็พยายามนึกว่าถ้าเราเป็นคนอ่าน เราจะรู้สึกถูกยัดเยียดไหม ก็พยายามใช้ภาษาแบบที่ไม่ยัดเยียด จนเกินไป เราก็อาจจะทวีตถึงวิธีการแต่งหน้าแบบใหม่ที่มีประโยชน์ไปสัก 5 ครั้ง จากนั้นอาจแทรกข้อความว่า “วันนี้เครื่องสำอางของเรามีโปรโมชั่นพิิเศษ เพื่อนๆ ในทวิตเตอร์คนไหนสนใจ บอกมาได้เลยเดี๋ยว DM รหัสโปรโมชั่นไปให้” อันนี้คือถ้าใครสนใจก็บอกมา เดี๋ยวส่งโค้ดไปให้ ใครไม่สนใจก็เลิกติดตามเราไป

รวมๆ แล้วก็ไม่มีอะไรมากครับ ก็แค่ใช้ภาษาที่เหมาะสมกับตัวเอง เหมาะกับแบรนด์ของคุณ และเป็นกันเอง อย่า Hard sale และที่สำคัญมันก็กลับมาที่หัวใจของการตลาดแบบความสัมพันธ์ครับ “Make friend”