เดินกินลมชมซิลิคอน วัลเล่ย์ท้ายปี 2009

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นต้นฉบับที่ผมส่งให้นิตยสาร Positioning แต่ว่าทางกองบก. ได้ปรับให้กระชับมากยิ่งขึ้น แต่มันก็ยังมีเนืี้อความบางอย่างที่ผมเสียดาย และอยากจะเอาลงทั้งหมด ดังนั้นบทความที่คุณเห็นในคอลัมน์ Digital marketing ฉบับเดือนมกราคม 2553 จะแตกต่างไปจากนี้นะครับ อันนี้มันพาเที่ยวสบายๆ
– – – – – – – – – –

เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา ผมบินไปซาน ฟรานซิสโก เพื่อไปร่วมการสัมมนา ของ Yahoo! ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่นั่น เลยมีโอกาสเดินไปสำรวจตรงจุด ที่ผู้สนใจดิจิตอลเทคโนโลยีทั่วโลกรู้จักกันในชื่อของ “ซิลิคอน วัลเล่ย์” เลยขอหยิบเอาเรื่องราวทั่วๆ ไป รวมถึง “บรรยากาศ” ความเคลื่อนไหวรวมๆ ของซิลิคอน วัลเล่ย์ที่นักการตลาดไทยน่าจะสนใจกันมาฝากนะครับ

พลังของ “Cyber Monday”
ผมเดินทางจากสิงคโปร์ถึงซาน ฟรานซิสโกในวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน ซึ่งตอนนั้นเพิ่งพ้นผ่าน Black Friday ที่ฝรั่งเขาว่ากันว่าขาช้อปเดินกันสนั่น เพราะวันนั้นร้านค้าปลีกจะลดราคากันกระหน่ำมาก ไม่ใช่ลดกันธรรมดาๆ แม้ผมจะไม่ได้เห็น บรรยากาศนั้นด้วยตัวเอง แต่เพื่อนๆ คนไทยที่ทำงานกันในซิลิคอน วัลเล่ย์หลายต่อหลายคนบอกว่าลดกันสนุก 50-80% ก็มี แต่ที่น่าสนุกไปกว่านั้นก็คือ เขามี “Cyber Monday” ในวันที่ 30 พฤศจิกายนกันด้วยครับ

Cyber Monday เป็นแนวคิดการตลาดง่ายๆ แต่น่าสนใจดี คนที่คิดก็คือ National Retail Federations โดยประกาศเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2005 จับเอากระแสของ Black Friday ว่าวันศุกร์เป็นวันลดราคาของ “ออฟไลน์” ดังนั้นวันจันทร์ ที่กำลังจะถึงนี้เป็นวันลดราคาของ “ออนไลน์” และแน่นอนว่ามีหลายคน พลาดสินค้าราคาถูก จาก Black Friday เราก็มี Cyber Monday เป็นทางออกของนักช้อปที่ต้องการของดีราคาถูก เพียงแต่ต้องมาซื้อออนไลน์ เท่านั้น งานนี้คนที่รวยคือ Amazon และเว็บ Retail รายอื่นๆ เมืองไทยจะจัดวันช้อปปิ้งออนไลน์แบบนี้บ้างก็ไม่เลวนะครับ อาจช่วยกระตุ้นให้มีการซื้อขายออนไลน์กันมากขึ้นก็ได้ ดีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย มีการอ้างอิงกันไว้ในวิกิพีเดียว่า Cyber Monday สร้างรายได้ในวันที่ 7 ธันวาคม ปี 2007 881 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากที่ Black Friday ทำได้ 41,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึงจะห่างกันมาก แต่ก็เป็น “Marketing terms” ที่มีพลังทีเดียว – อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ผมเขียนแยกไปอีกตอนได้ที่นี่ครับ

เดินเล่นในซิลิคอนวัลเล่ย์

หลังจากสัมมนาที่ Yahoo! เสร็จไปได้ด้วยดี ช่วงวีคเอนด์ที่เหลือ ผมก็เลยขอ ให้เพื่อนๆ พาเดินในซิลิคอน วัลเล่ย์ ซึ่งจริงๆ แรกๆ ผมก็เดินดูตามออฟฟิศ ของบริษัทต่างๆ เพราะเห็นแต่ บริษัทตัวเอง ก็ยังไงๆ อยู่ เลยเดินมันไปเกือบ ทุกบริษัทเท่าที่จะเดินได้

จาก Yahoo! ที่ Sunnyvale ก็ขับรถเล่นผ่านไปถึง Nvidia, Sun Microsystems, Cisco, Microsoft, Facebook, Twitter, Google, Ning, SAP แต่ผมมองออฟฟิศแต่จากข้างนอกนะครับ เพราะผมว่ามันคงไม่เหมาะสม ที่จะเดินเข้าไป โดยไม่ได้รับเชิญ

ขณะที่เดินทางคราวนี้ ผมก็ถามเพื่อนๆ ว่าเหตุผลที่ซิลิคอน วัลเล่ย์ ดึงดูดให้คนมาลงทุนที่นี่ และเป็นเหมือนจุดศูนย์กลางของโลก ดิจิตอลเทคโนโลยี มันเพราะอะไร ก็ได้คำตอบว่า ที่นี่มีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ในนิเวศวิทยาของมัน 3 อย่างคือ บุคลากร เงินทุน และวัฒนธรรมความเป็นเจ้าของกิจการ และความคิดสร้างสรรค์

1.บุคลากร
ในซิลิคอน วัลเล่ย์ อุตสาหกรรมดิจิตอลเทคโนโลยีจะขับ เคลื่อนไปได้ ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความสามารถ ที่นี่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายต่อหลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ สแตนฟอร์ด ที่ผู้ก่อตั้งบริษัทดังๆ ก็จบจากที่นี่ อย่าง Jerry Yang, David Filo แห่ง Yahoo! และ Sergey Brin, Larry Page แห่ง Google เรียกได้ว่านอกจากเป็นแหล่งผลิตบุคลากรชั้นดีแล้ว ก็ยังสามารถ รับสมัครพนักงานเก่งๆ รุ่นใหม่ได้จากที่นี่โดยตรงอีกด้วย

อันนี้ฮามาก ไม่กล้าเดินขึ้นไป เลยถ่ายมาแค่ป้าย Ning ;p

2.เงินทุน
บรรดาคนทำงานด้านดอทคอมทุกคนจะรู้จักถนน Sandhill ที่ว่ากันว่าเป็นแหล่งรวมของบริษัท Venture Capital หรือที่ เรียกกันสั้นๆ ว่า VC ใครที่มีไอเดียใหม่ๆ ใครที่อยากได้คำแนะนำดีๆ อยากได้เงินนำไปลงทุน ก็มาคุยกับ VC อย่าง Kleiner Perkins ที่นี่ได้ หรือเลยออกไปทาง Menlo Park ก็จะมี Sequoia Capital ลองไปเสิร์ชกันดูนะครับว่าบริษัทเหล่านี้ลงทุนกับบริษัทดอทคอมอะไรกันบ้าง แต่ทั้งนี้ระบบ VC นั้นในเมืองไทยได้ยินมาว่าเริ่มมีบริษัทต่างชาติเริ่ม เดินสายเข้าไปบ้างแล้ว

3.วัฒนธรรมความเป็นเจ้าของกิจการและความคิดสร้างสรรค์
ด้วยความโด่งดังและความสำเร็จของซิลิคอน วัลเล่ย์ มาหลาย ยุคหลายสมัย ทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกฝันอยากจะสร้าง ซิลิคอน วัลเล่ย์ในประเทศของตัวเองบ้าง เช่น บังกาลอร์ ที่อินเดีย ไซบีเรียที่รัสเซีย จงกวนชุน ที่เมืองจีน หรือในประเทศไทยเองก็เห็นว่า เราพยายามผลักดันภูเก็ต ให้เติบโตอย่างนั้นบ้าง

แต่สิ่งที่แตกต่างที่สุด (และผมว่าน่าจะสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่เลียน แบบซิลิคอน วัลเล่ย์ยาก) ก็คือวัฒนธรรมความเป็นเจ้าของกิจการ และความคิดสร้างสรรค์ ถ้าทุกๆ ประเทศเน้นย้ำเรื่องวัฒนธรรมความคิดสร้างสรรค์ การศึกษา ที่บ่มเพาะให้คนได้คิด ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของระบบการศึกษา และระบบ ความคิดเรื่องการเป็น เจ้าของกิจการที่ต้องปลูกฝัง กันยาวนาน ถึงจะสำเร็จได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ต่างกัน อย่างเมืองไทย ปัจจัยขั้นพื้นฐานเรายังต้องพัฒนาเพิ่มเติม อย่างง่ายๆ เช่น ไฮสปีตอินเทอร์เน็ตบ้านเรา ตอนนี้ที่ว่าเร็ว 8 MB แต่ที่อเมริกาปา เข้าไปอย่างต่ำเป็นหลักร้อย MB ในราคาที่ไม่แพงเช่นกัน แต่อันนี้ก็น่าเห็นใจว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในบ้านเรา มีฐานลูกค้าแค่ในเมืองไทย คนใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 16.1 ล้านคน อาจจะเทียบไม่ได้กับที่อเมริกา

* แนะนำให้คุณผู้อ่านลองอ่านบทความเรื่อง “มองการลงทุนนอกกรอบซิลิคอน วัลเล่ย์” เพิ่มเติมนะครับ

กินข้าว เดินเล่น เข้าร้านหนังสือ
การเดินทางไปซิลิคอน วัลเล่ย์คราวนี้ผมฝากท้องไว้กับเพื่อนๆ คนไทยที่ทำงาน ที่นั่นและถามเขาเรื่องการใช้ชีวิตซะมากกว่า เพื่อซึมซับเอาบรรยากาศ และทำความเข้าใจว่าทำไมซิลิคอน วัลเล่ย์ถึงเป็นจุดที่นักลงทุนจากทั่วโลก เดินทางมาปักหลักลงทุนที่นี่

ตามประสาคนทำงานที่นั่น ถ้าผมไปถามอะไรที่มันเป็นทฤษฎีจ๋ามากๆ คงไม่มีใครตอบ เลยอาศัยมองดูรอบๆ ตัวว่าคนที่นั่นใช้ชีวิตกันยังไง เอาอย่างง่ายๆ ว่าไปกินข้าว ผมถามว่าจะไปกินข้าวที่ไหนดีวันนี้ มีอะไรแนะนำบ้าง เพื่อนผมเสิร์ชแล้วไปเจอเว็บ Yelp.com เว็บดังที่ซาน ฟรานซิสโก ซึ่งเป็นเว็บไซต์แนว Social Networking ที่คนอเมริกันจะเข้าไป เขียนรีวิวกันว่าไปกิน ไปเที่ยวที่ไหนมาแล้วชอบหรือไม่ชอบอย่างไร แล้วก็จะได้เพื่อนที่ชอบกินชอบเที่ยวที่เดียวกันเพิ่มขึ้นมาอีก และเราก็ลอง ไปตามร้านที่สมาชิกใน
Yelp.com แนะนำกัน

พอไปถึงหน้าร้านก็เจอป้ายนี้ครับ

ร้านอาหารอิตาเลี่ยนร้านนี้ภายนอกดูธรรมดาๆ ไม่ได้ไฮเทคอะไรเลยครับ แต่ว่าเจ้าของร้านเข้าไปทำการตลาดของร้านตัวเองผ่านทาง Yelp.com เป็นประจำ ผมถามว่าเขาทำมานานเท่าไหร่แล้ว เขาบอกว่าทำมานานแล้วจำไม่ได้ แต่ว่านอกจาก Yelp.com แล้ว เขาก็ยังเข้าไปตอบคำถามลูกค้าทาง CitySearch.com อีกด้วย ลูกค้าบางรายบอกว่าอาหารอร่อยมากก็เข้าไปขอบคุณ ใครบอกว่าไม่อร่อยเลย เขาก็เข้าไปตอบว่าเมนูไหนไม่อร่อย เขาจะปรับปรุง อย่างนี้ก็มีนะครับ พอสมาชิกของ Yelp.com คนอื่นๆ มาเห็นก็ทำให้ “เชื่อ” ได้ว่าร้านนี้ยังมีการปรับปรุง และใส่ใจลูกค้าตลอด แบบนี้ยังน่าไปอุดหนุน เมืองไทยน่าจะมีเว็บแบบนี้กันบ้างนะครับ

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งที่เจอคือ เวลาผมเดินไปตามจุดต่างๆ ของเมือง คนมีอายุแค่ไหนก็ใช้อินเทอร์เน็ตได้ ไม่มีใครมาบอกว่า “โอ้ย ฉันเป็นคนโลวเทค” คนที่นี่เกือบทุกคนทำอะไรไม่ได้คำนึงถึงเรื่องวัย เป็นที่ตั้งครับ แต่ดูว่ามันเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองหรือเปล่า

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าเราเดินไปผ่านร้านค้า ร้านกาแฟข้างทาง แล้วเขาจะมีเว็บไซต์ของร้านตัวเองเพื่อให้คนเข้ามาดูสินค้า และแนะนำบริการของตัวเอง หรือแม้แต่ศิลปินข้างทางคนนี้ เขาเรียงหินทีละชั้นๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ ก็มีช่อง YouTube ของตัวเอง ผมถามเขาว่าคุณมีรายได้จากผู้ชมที่เดินผ่านไปผ่านมาเท่านั้นหรือ เขาบอกว่าไม่เลย เมื่อก่อนน่ะใช่ แต่ตอนนี้ตั้งแต่เขาเอางานศิลปะของเขาขึ้น อินเทอร์เน็ต ก็มีคนเดินมาดูมากขึ้น มีคนบอกต่อมากขึ้น จนกระทั่งทำชิ้นงาน โฆษณาให้กับ Coca-Cola และจากผลงานเหล่านี้ทำให้เขาได้ไปสอน ศิลปะให้กับเด็กๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยในแคลิฟอร์เนียอีกด้วย

อย่างเวลาเดินเข้าไปในร้านหนังสือที่นี่อย่าง Borders, Barns & Noble ในร้านก็ปรับตัวให้คนที่เข้าไปในร้านซื้อหนังสือได้สะดวกขึ้น อย่างเช่น อยากจะอ่านหนังสือไปด้วยดื่มกาแฟไปด้วยก็มีโต๊ะให้นั่งอ่านกันเต็มที่ คือไม่กั๊กเหมือนเมืองไทย รวมถึงเรื่องพื้นๆ อย่าง การติดตั้ง เครื่องคอมพิวเตอร์ให้เราค้นหาหนังสือ, ซีดี, Audio book ในร้านได้สะดวกมากขึ้น



และตอนนี้เทรนด์ใหม่มาแรงที่อเมริกาก็คือตัว eBook reader ถ้าเราเดินเข้าไปใน Barns & Noble ก็จะเห็น “Nook Readers” ที่ทางบริษัทจัดทำขึ้นมา ในแบบเดียวกับ Amazon Kindle แต่ถ้าเราเดินเข้าไปใน Borders ที่นั่นก็จะขาย e-Readers ของ Sony ผมถามคนขายว่าขายได้ไหม เขาบอกว่าไม่ได้ขายดีมาก แต่ขายได้เรื่อยๆ อย่างน้อยก็ดีกว่าเมื่อหลายปีก่อน เพราะตอนนี้อุปกรณ์ประเภทนี้ พัฒนาไปเยอะมาก และข้อดีของมันก็คืออยู่ที่ไหนก็ซื้อหนังสือได้ เพราะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายเข้ากับอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย (*บทความนี้เขียนเมื่อช่วงปีใหม่ ยังไม่มีการเปิดตัว iPad นะครับ)

สิ่งที่น่าคิดก็คือที่อเมริกามีการผลักดันให้เจ้าตัว e-reader พวกนี้จริงจัง มากขึ้น รูปแบบธุรกิจของร้านหนังสือก็จะเริ่มเปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อย เช่น จากเดิมติดต่อกับสำนักพิมพ์ต่างๆ ให้ส่งหนังสือมาขาย ต่อไปก็จะรับ ต้นฉบับอิเล็คทรอนิคส์มาขายต่อทางเว็บไซต์ ของร้านในราคาที่ถูกลง เพราะต้นทุนทางการพิมพ์และการขนส่ง การจัดสต๊อกลดลง สิ่งที่ต้อง รอดูกันต่อไปก็คือ คนจะอ่านหนังสือผ่านทางอุปกรณ์เหล่านี้ในอัตราที่มากขึ้น กว่าเดิมแค่ไหน

การเดินทางไปซิลิคอน วัลเล่ย์คราวนี้อาจจะสั้นไปสักนิด แต่ก็ได้ไปดูถึงแนวโน้ม ใหม่ๆ และวิถีชีวิตของคนในซิลิคอน วัลเล่ย์ถึงสถานที่จริง สำหรับคุณผู้อ่าน ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นไปในซิลิคอน วัลเล่ย์ ผมแนะนำ ให้อ่านเว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับซิลิคอน วัลเล่ย์โดยเฉพาะนะครับ เช่น Silicon Alley Insider และ TechCrunch