Naver.com เว็บเกาหลีที่ฝรั่งต้องยอมซูฮก

วันก่อนนี้เพื่อนที่ออฟฟิศ forward บทความจากหนังสือพิมพ์ Herald Tribune เมื่อเดือนกรกฏาคมปี 2007 มาให้อ่าน หัวข้อชื่อว่า “To outdo Google, Naver taps into Korea’s collective wisdom” โดย Choe Sang-Hun เป็นบทความเกี่ยวกับเว็บไซต์อันดับหนึ่งของเกาหลีที่ชืี่อว่า Naver.com ผมเห็นว่าน่าสนใจก็เลยอยากจะแปล แต่ก่อนแปลก็อยากรู้ว่าในเมืองไทยมีใครพูดถึงเรื่องนี้ไว้หรือเปล่า เผื่อมีใครแปลไว้แล้วจะได้ไม่แปลซ้ำ ปรากฏว่าผมไปเจอบทความนี้ถูกแปลอยู่ในหนังสือพิมพ์ธุรกิจไทยชื่อดังฉบับหนึ่ง โดยนักข่าวหนังสือพิมพ์เล่มนี้ไม่ได้ให้เครดิตคนเขียนต้นฉบับไว้เลยแม้แต่น้อย แถมยังแปลไม่ครบถ้วนกระบวนความ ในฐานะบล็อกเกอร์คนนึง และอดีตคนข่าว ก็ขอแปลชัดๆ ให้อ่านกันอีกทีนะครับ แล้วผมจะเพิ่มเติมเรื่องอื่นๆ ที่เป็นความเห็นของผมเข้าไปตอนหลัง

*Disclaimer: เนื่องจากมีการพาดพิงบริษัทคู่แข่ง ผมขอออกตัวก่อนว่าอันนี้ผมไม่ได้มีเจตนาจะโจมตีอะไรทั้งสิ้น แต่ที่แปลออกมาเพราะสาเหตุที่กล่าวไว้ข้างต้นคือ เรื่องดีๆ แบบนี้สมควรได้รับเครดิต และคนไทยน่าจะได้อ่านกันง่ายขึ้นครับ

– – – – –
Naver.com ผู้พิชิต Google ด้วยภูมิปัญญาสะสมของเกาหลี

กรุงโซล – Park Hye Ran นักเรียนมัธยมปลายวัย 15 ปีกำลังง่วนกับการค้นหาเส้นทางที่สั้นที่สุดจากท่ารถบริเวณท่าเรือฝั่งใต้ของเมืองปูซานไปสู่ตลาดปลาในฝั่งตะวันออก ซึ่งคำถามแนวนี้เป็นคำถามแนวโปรดที่ Cho In Joon คนขายล็อตเตอรี่ในเมืองปูซานชอบตอบเสียด้วยสิ

In Joon นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์และโพสต์ตอบคำถามของนักเรียนสาวไป และคนอื่นๆ ในเว็บ Naver.com ซึ่งอาจจะกำลังถามคำถามเดียวกันนี้ก็พลอยได้ความรู้ไปด้วยว่า เส้นทางไหนที่ Hye Ran ควรจะเปลี่ยนสายรถไฟ ตรงไหนที่ควรจะออกมาจากสถานี ออกสถานีไหนยังไง และนานเท่าไหร่ถ้าเดินจากตรงจุดนั้นไปถึงตลาด ซึ่ง In Joon ทำแม้กระทั่งแนบไฟล์แผนที่ให้สาวน้อยคนเดิมนี้ดูประกอบ และท้ายสุด Hye Ran ก็ให้คะแนนกับคำตอบของ In Joon 5 ดาวเต็ม จนทำให้ In Joon ได้กลายเป็นผู้ตอบกิติมศักดิ์จากทางทีมงาน Knowledge iN ไปแล้ว

“เวลามีคนที่ฉันไม่รู้จักมาขอบคุณฉัน ฉันก็รู้สึกดีนะ” In Joon กล่าว “ไม่มีใครจ่ายอะไรให้ฉันหรอก แต่การได้ช่วยคนอื่นบนอินเทอร์เน็ตมันติดนะ วันนึงๆ ฉันจะนั่งอยู่หน้าจอสักสามชั่วโมงเพื่อคอยตอบคำถาม ก็เจียดเวลานอนมาตอบเอา”

ต้องขอบคุณ In Joon และอาสาสมัครอีกนับหมื่นคนใน Naver.com ซึ่งเป็นเว็บที่คนเกาหลีโปรดปราน และในเกาหลีนั้น เวลาจะค้นหาอะไร คนเกาหลีไม่ได้ “Google it” แต่คนเกาหลี “Naver it” เอา

การตอบคำถามช่วยคนอื่นกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ Naver.com กลายเป็นผู้นำทางด้านการค้นหาทางอินเทอร์เน็ตในประเทศ ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านการค้นหาสูงถึง 77% ทั้งประเทศ ซึ่งเป็นเว็บที่มีเนื้อหาที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้ใช้ (ด้วยการเข้ามาถามและตอบ) ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ด้วยคนธรรมดาๆ อย่าง Hye Ran และ In Joon

Daum.net (ออกเสียง ดา-อูม ผู้แปล) เว็บท่าอีกแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ตามมาด้วยส่วนแบ่งประมาณ 10.8% ตามด้วย Yahoo! เกาหลี 4.4% แต่ Google เว็บค้นหายักษ์ใหญ่ของโลกกลับมีส่วนแบ่งในแดนโสมเพียง 1.7% อ้างอิงตาม KoreanClick บริษัทวิจัยการตลาดทางด้านอินเทอร์เน็ต

“ไม่ว่า Google อาจจะทรงพลังสักแค่ไหน แต่มันก็ยังไม่ได้มีข้อมูลภาษาเกาหลีมากพอที่จะทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเกาหลีพอใจได้” Wayne Lee นักวิเคราะห์จาก Woori Investment and Securities กล่าว

ความสำเร็จของ Naver.com สร้างความตะลึงพรึงเพริดให้กับหลายๆ คน เมื่อ NHN บริษัทเกมออนไลน์ที่สร้างเว็บค้นหาขึ้นมาในปี 1999 แรกเริ่มเดิมทีก็ดูร้างๆ ไม่มีอะไร ซึ่งก็เหมือนกับ Google ที่ตอนนั้น (ในปี 1999) ข้อมูลภาษาเกาหลียังไม่ได้มีมากพอสำหรับเว็บค้นหาที่จะเก็บข้อมูลไป indexing หรือจัดเรียงให้ค้นหาได้ดีนัก

“พอมันเป็นอย่างนี้แล้ว เราก็เลยเริ่มสร้างฐานข้อมูลที่เป็นภาษาเกาหลี” Lee Kyung Ryul โฆษกของ NHN กล่าว “ที่ Google ผู้ใช้จะมองหาข้อมูลที่มีอยู่แล้วบนอินเทอร์เน็ต แต่ในเกาหลีใต้ ถ้าคุณต้องการที่จะเป็นเว็บค้นหา คุณต้องสร้างฐานข้อมูลด้วยตัวเอง”

70% ของประชากรเกาหลีจากทั้งหมด 48 ล้านคนใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง คนเกาหลีจึงไม่ได้เข้าใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อข้อมูลเท่านั้น แต่พวกเขาต้องการรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของชุมชนออนไลน์ที่สัมผัสได้ถึงการโต้ตอบกันระหว่างคนจริงๆ ที่ Naver.com จัดไว้ให้ในเซ็คชั่นหนึ่งของเว็บที่ชื่อว่า “Knowledge iN” บริการ Q&A แบบ real-time

ในแต่ละวันผู้คนกว่า 16 ล้านคนที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ Naver.com (ซึ่งชื่อมาจากคำภาษาอังกฤษที่หมายถึง Neighbor และ Navigator) จะค้นหาสิ่งต่างๆ จากเว็บเหมือนกับค้นจาก Google กว่าวันละ 110 ล้านครั้ง และในจำนวนนั้นผู้ใช้ Naver ก็เข้าไปตั้งคำถามใน Knowledge iN วันละกว่า 40,000 คำถาม ซึ่งทำให้มีคนมาตอบวันละกว่า 110,000 คำตอบต่อวัน มีตั้งแต่ตอบประโยคเดียวสั้นๆ ยันบทความวิชาการที่อ้างอิงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน

รูปแบบการถาม-ตอบแบบ Knowledge iN ในตะวันตกมีการบัญญัติศัพท์กันไว้ว่าเป็นแบบ Collective Intelligence เปิดตัวขึ้นในปี 2002  ได้กลายเป็นฟีเจอร์ที่ฮอตฮิตขึ้นมาในเว็บท่าชื่อดังนี้ และทางบริษัทได้จัดเก็บคำถามและคำตอบไว้โดยไม่แชร์กับเว็บอื่นอย่าง Google เมื่อมีผู้เยี่ยมชมเข้ามาค้นหาธรรมดาๆ แบบ Web Search ทั่วไป เครื่องมือค้นหาก็จะไปควานเอาฐานข้อมูลคำถามและคำตอบออกมา พร้อมกับมีผลการค้นหาประเภทข่าวสารและเว็บเพจต่างๆ ออกมาในคราวเดียวกันด้วย

ปัจจุบัน (ณ กลางปี 2007) Naver.com อ้างว่ามีฐานข้อมูลกว่า 70 ล้านชุด ตั้งแต่คำถามประเภททำไมเกาหลีเหนือถึงผลิตระเบิดนิวเคลียร์ไปจนถึงถึง digital music player ตัวไหนดีที่สุด หรือแม้กระทั่งคำถามแบบเด็กผู้ชายควรจะทำอย่างไรเมื่อตกหลุมรักคุณครูในโรงเรียน

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีบรรณาธิการคอยดูแลเต็มตัวแบบที่เจอในวิกิพีเดีย แต่ Naver ก็ยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจที่เกิดจากผู้ใช้ที่ต้องการสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองอย่างสมำ่เสมอ ด้วยการทำวิจัยค้นคว้าหาข้อมูลมาตอบคำถามใน Naver.com

“ฉันไม่ใช่นักวิชาการอะไรหรอก แต่ฉันรู้ว่าจะเดินทางจากตรงนี้ไปตรงนั้นได้ยังไงเท่านั้นเอง ก็นี่เมืองของฉัน” In Joon ผู้ซึี่งเป็นเจ้าของคำตอบบนเว็บกว่า 2,520 คำตอบกล่าว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเส้นทางการจราจรในเมืองปูซาน “และสิ่งที่ฉันคิดว่ามันดีมากๆ เลยใน Knowledge iN ก็คือคุณสามารถขอความช่วยเหลือจากใครก็ได้สักคนในเวลาที่คุณต้องการ”

ด้วยความสำเร็จในการเป็นเจ้าตลาดเครื่องมือค้นหาหรือเสิร์ชเอ็นจิ้น NHN ก็กลายเป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตที่ทำกำไรสูงที่สุดในเกาหลีและมีพนักงานกว่า 2,700 คน ด้วยมูลค่า 299 ล้านวอน (หรือนับเป็นกำไรถึง 325 ล้านเหรียญสหรัฐ) จากยอดขายทั้งหมด 573 พันล้านวอน โดยตัวบริษัทเองมีมูลค่าสูง 8 ล้านล้านวอน

NHN ยังมีกิจการเกมออนไลน์ที่เรารู้จักกันในชื่อ Hangame ในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น และ Ourgame ที่เมืองจีน แต่ตัว Naver เองซึ่งขายโฆษณาทางเครื่องมือค้นหานั้นทำรายได้สูงถึง 52% ของรายรับทั้งหมดในปีที่ผ่านมา โดย Naver เป็นบริษัทที่กินส่วนแบ่งมูลค่าในวงการโฆษณาทางเครื่องมือค้นหาของเกาหลีสูงถึง 61% ในปีที่แล้ว

ถ้าหากว่าเราจะหารีวิวสินค้าชนิดต่างๆ เราคงเจอได้ที่ Amazon.com หรือจะมองหาฟีดแบคจากผู้ขายสินค้าต่างๆ เราก็คงไปหาที่ eBay แต่ใน Naver คุณจะได้รับเชิญให้ไปให้คะแนนกับคุณภาพของคำตอบที่โพสต์กันขึ้นไป โดยทางบริษัทจะคอยดูแลป้องกันเรื่องภาพลามกอนาจาร ลิขสิทธิ์ และโฆษณาต่างๆ

ท่ามกลางความสำเร็จของ Knowledge iN ใน Naver.com คู่แข่งตัวฉกาจอย่าง Daum ก็เริ่มกินส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้นในปีที่แล้วโดยการเปิด “Virtual Cafe” ขึ้นมา 6.7 ล้านร้าน โดยเปิดให้ยูสเซอร์สร้างกลุ่มของตัวเองที่เป็นเหมือนสภากาแฟของตัวเอง กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดใน Daum นั้นมีสมาชิกมากถึง 3 ล้านคน และมีกลุ่มหลากหลาย อาทิ กลุ่มคนโรงเรียนเดียวกัน กลุ่มสนับสนุนหรือต่อต้านการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนรักการปีนเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองทำให้ Daum ตีตื้นขึ้นมากินส่วนแบ่งทางการตลาดเกือบ 30% ภายในสองปี โดยมีรายได้จากโฆษณา 22.8 พันล้านวอนในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2007 สูงขึ้นจากปี 2006 ถึง 46%

ทางด้าน Google เองก็ไม่ได้นั่งนิ่งๆ โดยทาง CEO ของ Google นาย Eric Schmidt กล่าวไว้ในกรุงโซลเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมปี 2007 ว่า Google จะอัพเกรดการให้บริการในภาษาเกาหลี และเปิดแลปวิจัย รวมทั้งกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับ Daum เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการแชร์เนื้อหาและเทคโนโลยี และเสิร์ชเอ็นจิ้นภาษาเกาหลีตัวพัฒนาใหม่ของ Google นี้ก็ยังคงสไตล์แบบเรียบง่ายไว้เช่นเดิม แต่ว่ามันก็ยังไม่จับใจคนเกาหลีอยู่เช่นเดิม เพราะคนเกาหลีชอบที่จะดูเว็บแบบเว็บท่ามากกว่า มีภาพกราฟฟิคสวยๆ ลูกเล่นเยอะๆ

“แทนที่จะขึ้นอยู่กับกลไกในระบบหลังบ้านทั้งหมด Naver ยังใช้คนในการดูเทรนด์ของคีย์เวิร์ดต่างๆ เพื่อที่จะจัดหมวดหมู่ของเนื้อหาว่าควรจะไปอยู่ตรงไหนในหน้าแสดงผลการค้นหา” Kim Hyun Min นักวิเคราะห์จาก Korea Investment and Securities กล่าว

ทางด้าน Yahoo! เกาหลี ซึ่งเคยเป็นเว็บอันดับหนึ่งในเกาหลีแต่โดนเจ้าถิ่นมาแซงไปจนรั้งอันดับสามอยู่ด้วยสัดส่วนทางการตลาดด้านการค้นหาเพียง 4.4% นี่ไม่เพียงปรับให้เข้ากับคนเกาหลีแล้ว แต่ยังส่งออกเอาผลิตภัณฑ์และบริการ Q&A นี้ไปให้ Yahoo! ทั่วโลกในชื่อ Yahoo! Answers ซึ่งเปิดให้บริการใน 21 ประเทศทั่วโลก (ในเมืองไทยก็คือ Yahoo! รู้รอบนั่นเองครับ – ผู้แปล)

“เราพบว่าเราสามารถจับกระแสอินเทอร์เน็ตในเกาหลีใต้และพัฒนาบริการที่ดีกว่าและเปิดตัวไปให้กับ Yahoo! ทั่วโลก” Kim Jin Su CEO ของ Yahoo! เกาหลีกล่าว

——–

ที่จริงแล้วเจ้าตัว Knowledge iN นี่ล่ะครับที่เป็นที่มาของ Yahoo! Answers เว็บไซต์แนว Q&A อันดับหนึ่งของโลกที่มีผู้ใช้มากกว่า 130 ล้านคนทั่วโลก โดยทาง Yahoo! นำเอามาต่อยอดจาก Naver.com นั่นเอง

6 Replies to “Naver.com เว็บเกาหลีที่ฝรั่งต้องยอมซูฮก”

  1. ไม่เชิงครับ เพราะพันทิปไม่ได้เน้น Search และเป็นเว็บบอร์ดมากกว่า แต่ก็ถือว่ามีคุณภาพดีมากครับ สรุปคือไม่เหมือนเป๊ะๆ ที่เหมือนเลยคือ Yahoo! Answers หรือ Yahoo! รู้รอบครับ

  2. Ich habe mich vor einigenStunden bei Bet365 angemeldet.
    Die Anmeldung gingabsolutreibungslos und als ich gesehen habe,
    dass es für Neukunden wirklich einen Bonus von bis
    zu 100 Euro gibt, war ich kurzerhandbegeistert!
    Ich habe schon länger über diverse Anbieter Sportwetten abgeschlossen, die ich
    hier nicht explizitveröffentlichenmag, die allerdings vielenvertraut
    sein sollten, und ich habe mich noch bei keinem Anbieter so gut
    aufgehoben und abgesichert gefühlt wie bei Bet365. Ich weiß,
    dass man beim Wetten am Kioskständigüber den Tisch gezogen wird, aber ich habe von Kumpels so viele positive Erfahrungsberichte gehört und
    mich auch übers Handy selbst beim Kundenservice informiert und kann jetzt
    beteuern, dass bei Bet365 alles seriös abläuft und kein Spieler darum fürchten muss, um sein Geld betrogen zu werden.

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: