
เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาผมย้ายบ้านครับ
พอได้บ้านใหม่ก็เลยต้องจัดหนังสือที่มีอยู่ทั้งหมดหลายร้อยเล่ม จัดไปจัดมา ก็พบว่าหนังสือธุรกิจการตลาดที่ตัวเองเก็บสะสมมาสิบกว่าปีนั้นราวๆ 40% เป็นหนังสือที่เริ่มจะล้าสมัย บางเล่มยังนำความรู้ที่มีอยู่ในนั้นมาปรับใช้กับปัจจุบันได้อยู่บ้าง แต่ก็นะ หลายเล่มใช้ไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเล่มที่อิงอยู่กับกระแสเทคโนโลยี พอมาอ่านอีกทีก็กลายเป็นความรู้พื้นๆ ของทุกคนไปแล้ว
ยกตัวอย่างนะครับ อย่างหนังสือที่เคยซื้อมาตอนปี 2010 Social Media เป็นเรื่องใหม่คนสนใจมาก มีคนเขียนถึงปรากฏการณ์นั้นมากๆ แต่ตอนนี้ Social Media มันเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก แพลตฟอร์มแต่ละแห่งต่างก็ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ซึ่งตอนนี้มันก็มี Clear winner แล้วว่าเป็น Facebook, Instagram, Twitter, YouTube, LINE, Tiktok, Pinterest ฯลฯ
นี่ถ้าเราไม่ได้มานั่งจัดหนังสือครั้งนี้ เราอาจจะยังจะไม่รู้ตัวว่าความรู้อะไรบ้างที่มันเริ่มหายไปกับกาลเวลา
พอคิดได้แบบนี้ ผมก็เลยเริ่มคิดได้ว่า การกล้าที่จะละวาง (หรือแม้กระทั่งทิ้ง) ความรู้เดิม สำคัญพอๆ กับความพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่เติมเข้ามาในหัว แต่การที่เราจะละวางความรู้เดิมได้มันยากมากเลย เพราะการที่เราเป็นเราได้ในทุกวันนี้ก็เพราะไอ้ความรู้ที่เราได้มาในอดีตนั่นแหละ
สเตตัสนี้เลยอยากเขียนไว้เป็น #notetoself เตือนใจตัวเองเป็น ACTION สั้นๆ 5 ข้อ และบอกกับเพื่อนๆ รอบตัวว่า
1. อย่าหยุดเรียนรู้
อันนี้เหมือนจะตรงตัว แต่หลายคนพอทำงานไปนานๆ เราจะเริ่มมีข้ออ้างว่า “เราไม่มีเวลา” “เราต้องการเวลาไปทำงาน” “พวกนักอ่านแม่งไม่ทำหรอก เอาเวลาไปทำงานดีกว่า” มันจะมีพวกเสียงในหัวบ้าบออะไรแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ ดังนั้นการที่เราจะแน่ใจได้ว่าเราไม่ได้หยุดเรียนรู้คือ Make time เราต้องจัดเวลาที่ชัดเจนในการเรียนรู้ เพื่อหาทางที่ดีกว่าในการพัฒนาผลลัพธให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะชีวิตคือการผิดพลาดน้อยลงเรื่อยๆ
2. อย่าหยุดทดลอง ทดลองแล้วก็ปฎิบัติ
ผมเคยได้ยินคำว่า “ติดตำราก็งมงาย ปฎิเสธทฤษฎีก็ตื้นเขิน” แล้วชอบคำนี้มาก ผมเคยเจอหลายๆ คนที่เป็นนักอ่าน แล้วก็อ่านมันอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ไม่ได้เอามาทำสักที เลยกลายเป็นได้แค่ว่า รู้นะ อ่านมาแล้ว แต่พอไม่ได้เอามาทำ มันก็ไม่ไปไหน สิ่งสำคัญที่ผมเจอๆ มาก็คือการพูดมันง่ายกว่าทำอยู่แล้ว ดังนั้นเราต้องทำตัวเป็น ‘นักทดลอง’ ให้ได้ก่อนเป็นนักปฎิบัติ แบบที่คนเขาพูดๆ กันว่าเริ่มทำเล็กๆ ก่อน พอมีความสำเร็จเล็กๆ แล้วค่อยต่อยอดนั่นล่ะ
3. อย่าจำกัดรูปแบบการเรียนรู้
คนรอบๆ ตัวผมที่ชอบ like, share สเตตัสกันอยู่นี่เท่าที่ผมไปส่องๆ ดู คุณเป็นนักอ่านนะ ผมอยากจะบอกคุณว่าความรู้มันมาได้หลายทาง เช่น หนังสือฟัง Podcast ฟังและคุยใน Clubhouse หรือแม้กระทั่งมาจากการพูดคุยในร้านกาแฟ แต่ไม่มีอะไรดีกว่าการลงมือทำจริง เพราะการเรียนรู้จะไม่มีประโยชน์อะไรเท่าไหร่ ถ้าเราได้แต่ “ความรู้” แต่ไม่ได้ “ทักษะ”
4. ถาม feedback จากคนอื่น
หลายคนอาจจะไม่ค่อยชอบ แต่ผมว่ามันสำคัญนะ คือการที่เราถาม feedback จากคนอื่นอยู่เรื่อยๆ แม้ว่ามันจะไม่น่าฟังก็ตาม แต่ถ้าเราถามบ่อยๆ ว่า “เราทำอะไรได้ดีกว่านี้อีกบ้าง” เราจะได้รับการสะท้อน มีคนที่ช่วยเรามอง มันก็จะทำให้เรารู้ตัวมากขึ้น ไม่งั้นเราอาจจะไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไรก็ได้
5. ทิ้งให้เป็น
เมื่อได้ Feedback + ทดลอง + ลองทำ แล้วก็ต้องทิ้งความรู้เก่าให้เป็น
ถ้าคุณมีข้อที่ 6, 7, 8, 9, 10 ช่วยเติมหน่อยมาใน Comment หน่อยนะครับ