กรณีศึกษา: แนวทาง Social Media พันล้านของ GTH และ “พี่มาก..พระโขนง”

Image

ถึงจะช้าไปสักนิดที่จะเขียนถึง “พี่มาก..พระโขนง” ในเวลานี้แต่ก็ยังหวังว่าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์กับทุกคนที่สนใจ Digital Marketing แบบไทยๆ ไม่มากก็น้อยครับ ว่าจะปล่อยออกมาให้เร็วกว่านี้ แต่ไม่มีอะไรแก้ตัว ขอให้สนุกครับ!

อ่านเพิ่มเติม “กรณีศึกษา: แนวทาง Social Media พันล้านของ GTH และ “พี่มาก..พระโขนง””

ทำไมเราจึงต้องการ Search Engine ที่ดีกว่า Google

บทความ Why We Desperately Need a New (and Better) Google โดย Vivek Wadhwa แปลและเรียบเรียงโดย จักรพงษ์ คงมาลัย

บทความนี้น่าสนใจอย่างไร?: บทความนี้จะบอกถึงเบื้องลึกเบื้องหลังว่าผลการค้นหาใน Google แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร ความพยายามของสแปมเมอร์มีส่วนที่เป็นธุรกิจการหลอกลวงผู้บริโภคด้วยเนื้อหาบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างไร แนะนำให้ดูวิดีโอนี้ก่อน แล้วค่อยอ่านต่อครับ

ในเทอมนี้ นักเรียนของผมที่ School of Information มหาวิทยาลัย UC-Berkeley ทำวิจัยระบบ VC จากมุมมองของผู้ก่อตั้งบริษัท เราตระเตรียมรายละเอียดการสำรวจ เลือกสุ่มกลุ่มตัวอย่างที่จะคุยด้วย 500 บริษัทจากฐานข้อมูลที่มีใน LinkedIn.com ผมอยากขอบคุณ Reid Hoffman (คนก่อตั้ง LinkedIn.com และ VC ชื่อดังในซิลิค่อนวัลเล่ย์ – ผู้แปล) ที่ให้เราได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลวงในของ LinkedIn ซึ่งช่วยเราได้มากจริงๆ แต่ผู้ก่อตั้งบางคนก็ไม่ได้ใช้ LinkedIn และบางคนก็ไม่ตอบเมล ดังนั้นผมเลยแนะนำนักเรียนไปเสิร์ชด้วย Google เพื่อทำวิจัยถึงประวัติการทำงานของผู้ก่อตั้งแต่ละคน โดยไล่ย้อนไปเป็นปีๆ

แต่สิ่งที่เจอก็คือ มันไม่ง่ายเลยที่จะหาอะไรใน Google Google กลายเป็นเหมือนกับป่า เป็นสวรรค์ของพวกสแปมเมอร์และนักการตลาดที่จะปั่นให้เว็บไซต์ของตัวเองติดอันดับสูงๆ บอกเลยว่าแทบจะทุกๆ ครั้งที่เสิร์ชไป เจอลิงก์ที่น่าสนใจแล้วก็คลิก แต่ก็ไปเจอพวกลิงก์โฆษณาหาเงิน หรือไม่ก็ไปที่เว็บไซต์จ่ายเงินให้ Google แทบจะไม่มีทางในการได้ผลการค้นหาที่มีความหมายกับเราเอาซะเลย

ในที่สุดพวกเราก็เลยมาจบตรงที่ใช้ Search Engine ชื่อBlekko ที่แม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่มันก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ และดูมีนวัตกรรมดี ที่สำคัญคือเติมเต็มความต้องการของเรา และสามารถแข่งกับ Google (และ Bing) ได้เลย

Blekko สร้างขึ้นมาในปี 2007 โดย Rich Skrenta, Tom Annau, Mike Markson, และอดีตทีมงานวิศกรจาก Google และ Yahoo! ก่อนหน้านี้ Skrenta เคยสร้าง Topix ซึ่งต่อมากลายเป็น Open Directory Project ของ Netscape ส่วนเจ้าตัว Blekko ทีมของเขาได้สร้างแพลตฟอร์มใหม่ในการ crawl (การที่ Search Bot จะไปบันทึกเก็บเว็บเพจต่างๆ มาไว้ในเซิร์ฟเวอร์ได้ จะต้อง “ไต่” หรือ “คลาน” ไปในโยงใย World Wide Web) ในเบื้องต้นพวกเขาได้เงินจากนักลงทุนชื่อดังอย่าง Ron Conway, Marc Andreessen, Jeff Clavier, และ Mike Maples ทั้งหมดรวมกัน 24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงอีก 14 ล้านเหรียญจาก U.S. Venture Partners และ CMEA capital

เพื่อที่จะให้ผลการค้นหาแบบปกติออกมาได้เหมือน Google Blekko จะเปิดให้คุณเข้ามาจัดการ “slashtags” ที่มีไว้สำหรับกลั่นกรองข้อมูลตามรูปแบบที่คุณกำหนดด้วยตัวเอง เช่น เรากำลังอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ไข้หวัดหมู” แต่ถ้าลำพังเสิร์ชแต่คำว่า “ไข้หวัดหมู” คำเดียวใน Google ก็คงมีผลการค้นหาขึ้นเยอะเกินไปจนหาอะไรลำบาก แต่ Blekko จะเปิดให้คุณกลั่นกรองข้อมูลได้ เพียงเราใส่คำว่า “ไข้หวัดหมู /สุขภาพ” (swine flu /health) Blekko จะแสดงผลการค้นหา 70 อันเป็นเนื้อหาที่พูดถึงไข้หวัดหมูในแง่ที่ว่ามันเกี่ยวกับสุขภาพของเรามากกว่าจะไปหาเว็บไซต์สแปมทั้งหลาย

Blekko จะเปิดให้ยูสเซอร์อย่างเราๆ สามารถเข้าไปแก้ไขผลการค้นหา และร่วมจัดลำดับด้วยว่าอันไหนควรจะอยู่ใน slashtag อันนี้ อันไหนไม่ควร ซึ่งก็คล้ายๆ กับที่ Wikipedia ทำ (Wikipedia เปิดให้เราแก้ไขข้อมูลต่างๆ ในสารานุกรมร่วมสร้างนี้ได้เอง) ในกรณีของผม ผู้ใช้ Blekko สามารถสร้าง slashtag สำหรับเว็บไซต์วิชาการ ที่เรากำลังต้องการข้อมูลถึง 2,100 แห่ง ดังนั้นใครก็สามารถที่จะเสิร์ชอะไรได้ตรงมากขึ้น เน้นเจาะไปในด้านชีววิทยาโมเลกุลก็ได้ ผลที่ออกมาก็มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยากหา เชื่อถือได้มากขึ้นอีกด้วย

ลูกเล่นที่น่าสนใจที่สุดใน Blekko ก็คือความสามารถในการเรียงผลการค้นหา ถ้าคุณต้องการจะเสิร์ชตาม “วันที่” อย่างที่นักเรียนผมอยากจะเสิร์ช ก็แค่เข้าไปที่ Blekko แล้วใส่ slashtag “/date” ที่ท้ายคำค้นหาก็จะเรียงผลออกมาได้เลยง่ายๆ ในขณะที่ Google สามารถทำได้เพียงให้เราค้นหาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (date range) ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับเรา Blekko จะจัดบันทึกเรียงสารบัญเว็บเพจต่างๆ ตามวันที่มีคนสร้างหน้าเว็บเพจนั้นขึ้นมา (จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ฝังมาใน HTML อยู่แล้ว) ดังน้น ถ้าเราต้องการที่จะเสิร์ชหาบทความที่พูดถึงตัวเราเอง ผมก็ใส่ชื่อเข้าไปปกติ แล้วจำกัดไว้แค่ว่าให้มันเสิร์ชเฉพาะในบล็อกด้านเทคโนโลยีเท่านั้น หรือจะเป็นบล็อกไหนโดยเฉพาะก็ได้ แต่ถ้าใช้ Google หรือ Bing ก็หาไม่เจอ

ปัญหาก็คือเนื้อหาบนโลกอินเทอร์เน็ตมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกวัน แต่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาสแปมแย่ๆ ซึ่งเกิดจากพวกคนที่พยายามปั่นเว็บไซต์ของตัวเองให้ติดอันดับต้นๆ ใน ระบบ page-rank ของ Google อย่างเช่น คุณกำลังเสิร์ชหาอะไรสักอย่าง เจอเว็บๆ นึงที่คิดว่าใช่ คุณก็เลยคลิกไป ปรากฏว่ามันส่งคุณไปเว็บขายของ ซึ่งแน่ล่ะว่าสแปมเมอร์พวกนี้ได้เงินทุกคร้ังที่เราคลิก นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับบล็อกเกอร์ท่านหนึ่งชื่อ Paul Kedrosky ขณะที่ Paul กำลังพยายามจะเสิร์ชหาข้อมูลเพื่อซื้อเครื่องล้างจาน เขาก็เข้าไปใน Google แล้วเสิร์ชหาข้อมูล แต่ค้นแล้วค้นอีกสามสี่รอบก็หาข้อมูลที่ต้องการไม่ได้เลย (ผลการเสิร์ชครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3)Paul ก็เลยสรุปเอาว่า “ข้อมูลในเว็บรีวิวเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดมันเป็นสแปม”

ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่แค่รีวิวเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเท่านั้น แต่คำค้นหาที่ดังๆ ทั้งหลายก็ถูกสแปมไปหมด

การสร้างเนื้อหาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และมีบริษัทเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ลงมาเล่นด้วย เช่น Associated Content ที่จ้างคนมาเขียนบทความใหม่ๆ กว่า 10,000 บทความต่อเดือน ซึ่งต่อมาถูก Yahoo! ซื้อไป 100 ล้านเหรียญในปี 2010 ในขณะเดียวกัน บริษัทชื่อ Demand Media ก็มีนักเขียนในเครือถึง 8,000 คนที่เขียนบทความมากถึง 180,000 บทความต่อเดือน ทำรายได้สูงถึง 200 ล้านเหรียญในปี 2009 และยังวางแผนที่จะเข้าตลาดหุ้นด้วยมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญอีกต่างหาก ซึ่งเจ้าเนื้อหาที่ถูก “ผลิต” ออกมาป้อนการตลาดแบบนี้แหละที่จะพาเราไปสู่เว็บไซต์ขยะต่างๆ ทั่วโลกอินเทอร์เน็ต และพวกลิงก์เหล่านี้แหละที่จะเป็นผลการค้นหาของคุณอันดับต้นๆ ใน Google

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือเรากำลังจะสูญเสียข้อมูลดีๆ ในโลกอินเทอร์เน็ต และเราต้องการทางเลือกใหม่ในการค้นหาข้อมูลที่เราต้องการ ผมหวั้งว่า Blekko และ Search Engine ใหม่ๆ จะสร้างความแตกต่างนี้ขึ้นมาได้ ที่ผ่านมา Google ทำเพียงล้างสแปมออกไปเท่านั้นเอง

เกี่ยวกับผู้เขียน: Vivek Wadhwa เป็นผู้ประกอบการที่หันเข้าสู่ภาควิชาการ วิเวกเป็นอาจารย์รับเชิญที่ UC-Berkeley เป็นผู้ช่วยนักวิจัยอาวุโสที่ Harvard Law School และ Director of Research ที่ Center for Entrepreneurship และ Research Commercialization ที่มหาวิทยาลัย Duke คุณสามารถติดตามเขาได้ทาง Twitter ที่ @vwadhwa และอ่านงานวิจัยได้ที่ www.wadhwa.com

Jessica Jackley: ความยากจน เงินตรา และความรัก

วันแรกของเดือนสุดท้ายของปี หลายคนคงคิดถึงเรื่องการฉลองเทศกาลปีใหม่อย่างไรให้สนุก เริ่มวางแผนหยุดยาวอย่างไรให้คุ้ม บ้างก็รีบเคลียร์งานบอกลาเจ้านายเนิ่นๆ ไม่ก็เตรียมจับจ่ายซื้อของขวัญปีใหม่

ดูจะเป็นช่วงเวลาที่มีแต่ความสุขเนอะ แต่อย่างที่หลายคนคงรู้ดี โลกของเรามีคนนับล้านๆ คน บางคนมีความสุขสบาย บางคนมีความทุกข์ และบางประเทศที่มีปัญหาความยากจนก็ยังต้อง “ดิ้น” กันต่อไปเพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด แล้วในช่วงเทศกาลนี้ พวกเราได้ทำอะไรที่ช่วยให้โลกที่เราอยู่ทุกวันนี้ดีขึ้นหรือเปล่า? ผมไม่ได้เจ้าปรัชญาอะไรครับ เพียงแต่มันเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่เราน่าจะแบ่งปันความสุขที่เรามีให้กับคนอื่นบ้าง

หวังว่าบทความใน Blog นี้จะเป็นส่วนช่วยจุดประกายความคิดความฝันเล็กๆ ในใจคุณช่วงปลายปีนะครับ

วันนึงผมเข้าไปในเว็บไซต์ TED.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์แหล่งรวมของคลิปวิดีโอที่เกี่ยวกับการให้แรงบันดาลใจกับคนทั่วโลก และจะมีคนหมุนเวียนกันเข้ามาพูดในฟอรั่มนี้ มีตอนหนึ่งที่ผมสะดุดใจกับมันมากๆ นั่นก็คือ “Jessica Jackley: Poverty, money — and love

Jessica เป็นหญิงสาวชาวอเมริกันผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Kiva.org เว็บไซต์ Online Micro-lending ที่เปิดให้คนจนทั่วโลกเข้ามากู้เงินจากเราได้แบบไม่มีดอกเบี้ย โดยมีจุดหมายว่าให้คนจนที่อยากจะสร้างกิจการหาเลี้ยงตัวเองนั้นเข้ามากู้เงินจากคนบนโลกอินเทอร์เน็ตได้ คือแทนที่เราจะให้เปล่าๆ แต่เราทำตัวเป็นแบบธนาคารกรามีนของ โมฮัมหมัด ยูนุส* ซะเลย นั่นคือปล่อยเงินกู้ที่ให้กับผู้ประกอบการที่ยากจนที่ปกติแล้วไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารใหญ่ๆ ได้ เพราะธนาคารทั่วไปไม่ปล่อยให้คนจนกู้อยู่แล้ว เธอบอกว่า “ฉันรู้สึกตื้นตันกับไอเดียนั้นมากๆ ฉันเลยลาออกจากงานของฉัน ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างและย้ายไปอาฟริกาตะวันออกเพื่อช่วยเหลือคน” ปลายปี 2005 เธอร่วมก่อตั้ง Kiva.org กับ แมทท์ แฟลนเนอรี่ (Matt Flannery)

Jessica เล่าในวิดีโอว่า เธอลาออกจากงานตำแหน่งใหญ่ที่อเมริกา และบินไปดินแดนที่ยากจนที่สุดในโลก นั่นคือทวีปอาฟริกา แม้ไม่ได้มีเงินมากมาย เพียงแต่รู้สึกว่า เธอ “ต้องทำ” สิ่งนี้ ถ้าไม่ได้ทำมันจะตาย ทั้งหมดนี่เพื่อไปทำงานกับอาสาสมัครที่อาฟริกา เสร็จแล้วสร้างทีมงานอาสาสมัครที่อาฟริกาเพื่อจัดการติดต่อกับชาวบ้านที่อาจเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ยาก เป็นตัวกลางคอยผสานระหว่างชาวบ้านในอาฟริกากับ “ผู้ให้กู้” ทั่วโลกผ่านทาง Kiva.org

Kiva ใช้โมเดลแบบ peer-to-peer ซึ่งรวบรวมรายชื่อคนจนที่ขอกู้ยืมเงินมาใส่ไว้ในเว็บ แล้วให้เราชาวอินเทอร์เน็ตเข้าไปปล่อยเงินกู้ ตัวอย่างเช่น ชาวนาในเขมร, เภสัชกรในซีเรีย, และร้านขายของชำในมองโกเลีย เงินให้กู้ขั้นต่ำคือ 25 เหรียญสหรัฐฯ โดยไม่มีดอกเบี้ย ที่น่าสนใจคืออัตราการคืนเงินสูงถึง 98% และเธอได้กล่าวต่อไปอีกว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งมา มีคนกว่า 700,000 คนทั่วโลกให้เงินกู้ผ่าน Kiva.org ถึง 128 ล้านเหรียญแก่คนยากจนถึง 325,000 คน โปรเจ็คต์ล่าสุดของเธอคือ ProFounder แพลตฟอร์มสำหรับการช่วยผู้ประกอบการ SME ในสหรัฐฯ สร้างเนื้อสร้างตัวผ่านทาง community ใน ProFounder

*โมฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังคลาเทศ ผู้พัฒนาแนวคิด microcredit

ธารน้ำใจมันไหลจากคนที่แบ่งปันได้ไปสู่คนจนทั่วโลก สิ่งที่ Jessica ทำจึงเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ ที่เธอสร้างจากความตั้งใจดี แม้ว่าจะมีความยากลำบาก แต่เธอก็ไม่ย่อท้อ และทำไมถึงประสบความสำเร็จน่ะเหรอ? ก็คงเป็นเพราะพอคิดได้เธอก็ไม่รอเลยที่จะ “ลงมือทำ” และสร้างความแตกต่างในโลกนี้ให้ได้นั่นเอง ว่าแล้วลองชมเองครับว่าเธอพูดอะไรยังไงบ้าง สุขสันต์เทศกาลแห่งความสุขนะครับ

ตอบอีเมล: เทคนิคการหางานทำในต่างประเทศ หรือบริษัทต่างชาติ


ภาพโดย will hybrid

ผมทำงานที่ Yahoo! มา 3 ปีเต็มแล้วครับ อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นเหมือนกับ Regional hub ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องติดต่อกับคนเยอะ ส่วนใหญ่ก็ทางเมลล่ะครับ แต่เมลนอกเรื่องที่ผมได้มาบ่อยมากที่สุดอันนึงเลยก็คือ “พี่ครับ/พี่คะ จะหางานที่ต่างประเทศได้ไง” หรือไม่ก็ “ตอนนี้ผมเรียนอยู่ (อเมริกา, ออสเตรเลีย, อังกฤษ, จีน ฯลฯ) ครับ คิดว่าจบแล้วจะไปทำงานต่างประเทศ อยากทำแบบพี่บ้าง ทำยังไงครับ” ผมไม่ค่อยมีเวลาตอบอีเมลแนวนี้เท่าไหร่ แต่คิดว่าเขียนบล็อกให้อ่านกันไปเลยจะดีกว่า ถือว่าแชร์ๆ กันครับ

การทำงานต่างประเทศเป็นเหมือนกับความฝันของหลายๆ คน เพราะนอกจากจะได้ “โกอินเตอร์” สร้างพอร์ต เสริมประสบการณ์ต่างแดน มีเวทีในการสร้างผลงานแล้ว แน่นอนว่าบริษัทต่างชาติใหญ่ๆ Multi-National Company หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า MNC เขาก็จะเสนอเงินเดือน รายได้ ผลตอบแทนที่ดีให้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหนที่บริษัทจะเสนอให้คุณ บ้าน รถ ค่าอาหาร Stock option สิทธิพิเศษ บัตรเครดิตของบริษัทให้ใช้จ่าย ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมันรถ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเอนเตอร์เทนเม้นท์ ค่ายิม ค่าตรวจสุขภาพ ค่าใช้จ่ายจิปาถะที่เขาจะเสนอมาให้ ก็แล้วแต่ว่าคุณมีความสามารถอย่างไร ค่าตัวแค่ไหน

ทีนี้ถ้าคุณอยู่เมืองไทย อยากจะทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะในสายไอที ในสาย Telco จริงๆ ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป เพียงแต่ควรจะทำจากจุดเล็กๆ ง่ายๆ ก่อน ผมไม่ใช่คนที่เชียวชาญอะไรในด้านนี้นะครับ แต่มีประสบการณ์มาแชร์เท่านั้น ถ้าหากว่ามันทำให้คุณได้งานในต่างประเทศ ก็ยินดีครับ ผมเขียนเป็นขั้นๆ ไปนะครับ

0. ภาษาอังกฤษต้องแม่นก่อน ผมขอเริ่มจากข้อ 0. ก่อนไปข้อ 1. เพราะภาษามันสำคัญแทบจะที่สุดครับ คนไทยส่วนใหญ่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เก่งๆ กันเยอะ แต่มาตายเรื่องภาษา ทำให้เป็นอุปสรรค ผมแนะนำเลยครับว่าติวด่วน แนะนำ British Council ครับ

1. รู้เขา รู้เรา – สำรวจตัวเองครับ รู้ก่อนว่าเราชอบทำอะไร career path ไปทางไหน จุดแข็งจุดอ่อนตัวเองอยู่ตรงไหน แล้วมัน match กับความต้องการของบริษัทนั้นๆ ไหม ถ้าเรารู้แล้ว เราก็จะรู้ว่ามีบริษัทไหนบ้างที่ต้องการคนที่มีทักษะแบบเรา การสมัครงานไม่ใช่ว่าสมัครไปทั่วนะครับ เราควรดูว่าเราเหมาะกับตำแหน่งนั้นไหม ผมเองยอมรับว่าสมัยจบมาใหม่ๆ ก็ร่อนใบสมัครไปทั่วเน็ตเหมือนกันครับ ด้วยความกลัวว่าจะไม่ได้งาน ตอนนั้นจบมาเศรษฐกิจช่วงปี 40 กำลังตกต่ำเสียด้วย แต่การทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไรครับ เสียเวลาเปล่าๆ แต่ถ้าคุณเพิ่งจบใหม่ ก็พยายามสมัครไปให้ตรงกับสายที่เรียนมา แต่ส่วนใหญ่จากประสบการณ์ผม บริษัท MNC ไม่ค่อยรับเด็กจบใหม่ครับ จะเอาผ่านงานมาแล้วเกือบทั้งนั้น เพราะไม่ต้องมานั่งปวดหัวแนะนำอะไรกันมาก

2. เริ่มจากประเทศที่เหมาะกับคุณ – ตรงนี้ต้องยอมรับว่าถ้าคุณจบต่างประเทศ คุณจะมีโอกาสในการทำงานต่างประเทศมากกว่าคนที่จบในเมืองไทย เอาอย่างง่ายๆ ถ้าจบอเมริกา คุณก็มีสิทธิ์ในการที่จะทำงานที่อเมริกาประมาณหนึ่งปี (ถ้าตอนนี้กฏเปลี่ยนแล้วช่วยบอกด้วยนะครับ) มันก็จะทำให้คุณมีโอกาสในการทำงานในประเทศนั้นๆ มากขึ้น เพราะคุณพำนักอยู่ในประเทศนั้นอยู่แล้ว ทางฝ่ายบุคคลของบริษัทนั้นๆ ก็ไม่ต้องเดินเรื่องเอาคุณเข้าประเทศ คอยบอกคุณเรื่องที่พัก ค่าครองชีพ จิปาถะอะไรทำนองนี้

แต่ถ้าบังเอิญไม่ได้จบนอก จะมีโอกาสไหม มีครับ ผมแนะนำว่า เบื้องต้นเอาง่ายๆ สมัครประเทศไหนก็ได้ที่เขาต้องการคนไทย ทักษะพื้นๆ ทั่วไปที่บริษัท MNC บางแห่งต้องการก็คือ ถ้าคุณมีความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง เขาก็จะจ้างคนด้านนั้นมาหลายๆ ภาษาครับ เช่น พนักงานลูกค้าสัมพันธ์ภาษาไทย ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ประจำประเทศไทย อย่างที่สิงคโปร์นี่ก็เป็นหนึ่งในประเทศใกล้ๆ ที่มาง่าย เพราะสิงคโปร์จะเป็นเหมือนกับ Regional hub ของประเทศในแถบบ้านเรา บริษัทต่างชาติเวลาเขาจะลงทุนตั้งบริษัทในแถบนี้ เขาก็มักจะมาที่นี่ครับ เพราะเสถียรภาพ ความมั่นคงทางการเมือง นโยบายการลงทุนกับต่างชาติ คุณภาพของบุคลากร ค่อนข้างเอื้อกับการทำงานของเขา

3. ใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ – การหางานในต่างประเทศ เริ่มง่ายๆ ก็ลองใช้เว็บหางานที่เป็นที่นิยมในแต่ละประเทศก่อนครับ อย่างสิงคโปร์นี่เว็บดังก็ต้อง Jobstreet.com.sg Monster.com.sg หรือเว็บอื่นๆ อีกหลายต่อหลายแห่ง เสร็จแล้วก็ใส่คีย์เวิร์ดว่า “Thai” เข้าไป แค่นี้คุณก็จะเจอตำแหน่งงานที่รับพวก Thai speaking หรือตำแหน่งที่รับคนที่มีทักษะเฉพาะที่คุณมี แต่คุณก็จะเสียเปรียบคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ อยู่แล้ว รวมทั้งลองใช้บริษัทแนว Head Hunter ก็ได้นะครับ อันนี้ก็แล้วแต่ว่า Head Hunter จะมา “ล่า” คุณหรือเปล่า

จากประสบการณ์ผม คุณต้องทำงานมาระยะนึง มีพอร์ตพอสมควรแล้ว ถึงจะมีคนมาล่าครับ เมื่อเจองานที่คิดว่าใช่แล้วก็ส่ง CV ไปได้เลยครับ แต่วิธีการเขียน CV ก็ต้องเขียนให้มันโดน ให้เขามั่นใจได้ว่าคุณทำงานกับคนต่างประเทศได้นะ ภาษาอังกฤษแน่นพอตัว ก็จะทำให้ผ่านได้ฉลุย ยิ่งถ้าคุณหางานในบริษัทสมัยใหม่หน่อย อ่านบล็อกของบริษัทนั้นบ่อยๆ ครับ คุณจะรู้ว่าเขาเปิดรับเมื่อไหร่ รับบุคลากรด้านไหนบ้าง ก็จะทำให้มีโอกาสมากขึ้นไปอีก หรือว่างๆ ก็ไป join กลุ่มต่างๆ ในชุมชนคนทำงานอย่าง LinkedIn.com ที่ผมเคยแนะนำเอาไว้

4. บริษัท MNC ชอบรับคนจากบริษัท MNC ด้วยกัน – ผมเองมาจากบริษัทในประเทศไทย ไม่เคยผ่านงานบริษัทต่างชาติมาก่อนแต่ก็เข้าได้ เพราะเคยรับงานพาร์ทไทม์สมัยเรียนอยู่ต่างประเทศมาบ้าง ทำให้ฝ่าย HR ที่นี่เขามั่นใจมากขึ้น แต่ถ้าหากว่าคุณทำงานที่มีสาขาอยู่ต่างประเทศอยู่ด้วยแล้วก็ยิ่งดีใหญ่ครับ อันนี้จะทำให้เขามั่นใจได้ว่าคุณทำงานในระบบที่มีความเป็นสากลได้ง่ายขึ้น เพราะเหตุนี้เราจึงเห็นการย้ายงานระหว่างบริษัทต่างชาติกันเองบ่อย

หลักๆ ผมขอเขียนเท่านี้ก่อนละกันครับ นอกเหนือไปจากนี้ขออุบไว้ก่อน 😉 เดี๋ยวโดนฝ่าย HR มาเล่นงานได้

ผมว่าลองศึกษาหาข้อมูลดู หรือ เผื่อว่าอยากจะอ่านหนังสือหาข้อมูลเพิ่มเติม ผมแนะนำหนังสือ คู่มือหางานอินเตอร์ ครับ เล่มนี้เคยเปิดๆ อ่านตามร้าน น่าจะเหมาะกับคนที่สนใจงานในต่างประเทศ หรืองานบริษัทต่างชาติ หรือถ้าหากคุณคิดว่าคุณมีข้อมูลดีๆ ที่ผมไม่รู้ ช่วยกันแชร์นะครับ น่าจะมีประโยชน์กับคนไทยด้วยกัน

ลิงก์แนะนำ จับประเด็นน่าสนใจจากงาน WebPresso (จิบกาแฟคนทำ เว็บ) หัวข้อ “เทคนิคหางานและหาคนทำงานในสาย IT”

เปิดหมวด “Best of” รวมฮิต Blog post ใน Jakrapong.com

พอดีผมอ่านหนังสือ Social Media 101 ของ Chris Brogan ในนั้นแนะนำว่า ถ้าเราจะเขียนบล็อก และอยากจะแสดงตัวตนให้ผู้อ่านเห็นได้เร็วและชัดเจนมากยิ่งขึ้น ก็ควรจะมีหมวดที่เป็นเหมือนการรวบรวมเอา Blog post ที่คุณคิดว่าดีที่สุดที่คุณเคยเขียนมารวมเอาไว้ในที่เดียว อาจจะเป็นหน้าพิเศษ หรือทำสัญลักษณ์อะไรไว้ก็ได้ ผมเลยจัดการทำเป็น Category ใหม่ขึ้นมา ชื่อว่า “Best of”

มีหลักเกณฑ์อะไรในการเลือก?
ผมเขียนบล็อกมาตั้งแต่ปี 2006 มาถึงตอนนี้ก็ 200 กว่าตอนแล้ว มันก็มีบางชิ้นที่ผมอ่านแล้วก็ยังรู้สึกว่าดีใจที่ได้เขียนมันออกมา และคุณผู้อ่านหลายคนก็ชอบกัน บางตอนอาจไม่เด็ดโดนใจ แต่ผมมองว่ามันมีประโยชน์ และน่าบอกต่อ อย่างเช่นนิตยสาร Ode บางตอนมีคนขำมัน เช่น วิธีฝึกดูจิตด้วย Twitter

ถ้าหากว่าตอนไหนที่คุณคิดว่าไม่เวิร์ค บอกผมได้นะครับ จะพิจารณาถอดออกจาก Best of หรือถ้ามีตอนไหนที่คุณคิดว่าน่าจะใส่ แต่ผมดันไม่ใส่ ก็บอกมาได้เช่นกันครับ ขอบคุณทุกคนมากๆ ที่ติดตาม Blog เล็กๆ นี้มาตลอดหลายปีที่ผ่านมาครับ

เดินกินลมชมซิลิคอน วัลเล่ย์ท้ายปี 2009

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นต้นฉบับที่ผมส่งให้นิตยสาร Positioning แต่ว่าทางกองบก. ได้ปรับให้กระชับมากยิ่งขึ้น แต่มันก็ยังมีเนืี้อความบางอย่างที่ผมเสียดาย และอยากจะเอาลงทั้งหมด ดังนั้นบทความที่คุณเห็นในคอลัมน์ Digital marketing ฉบับเดือนมกราคม 2553 จะแตกต่างไปจากนี้นะครับ อันนี้มันพาเที่ยวสบายๆ
– – – – – – – – – –

เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา ผมบินไปซาน ฟรานซิสโก เพื่อไปร่วมการสัมมนา ของ Yahoo! ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่นั่น เลยมีโอกาสเดินไปสำรวจตรงจุด ที่ผู้สนใจดิจิตอลเทคโนโลยีทั่วโลกรู้จักกันในชื่อของ “ซิลิคอน วัลเล่ย์” เลยขอหยิบเอาเรื่องราวทั่วๆ ไป รวมถึง “บรรยากาศ” ความเคลื่อนไหวรวมๆ ของซิลิคอน วัลเล่ย์ที่นักการตลาดไทยน่าจะสนใจกันมาฝากนะครับ

พลังของ “Cyber Monday”
ผมเดินทางจากสิงคโปร์ถึงซาน ฟรานซิสโกในวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน ซึ่งตอนนั้นเพิ่งพ้นผ่าน Black Friday ที่ฝรั่งเขาว่ากันว่าขาช้อปเดินกันสนั่น เพราะวันนั้นร้านค้าปลีกจะลดราคากันกระหน่ำมาก ไม่ใช่ลดกันธรรมดาๆ แม้ผมจะไม่ได้เห็น บรรยากาศนั้นด้วยตัวเอง แต่เพื่อนๆ คนไทยที่ทำงานกันในซิลิคอน วัลเล่ย์หลายต่อหลายคนบอกว่าลดกันสนุก 50-80% ก็มี แต่ที่น่าสนุกไปกว่านั้นก็คือ เขามี “Cyber Monday” ในวันที่ 30 พฤศจิกายนกันด้วยครับ

Cyber Monday เป็นแนวคิดการตลาดง่ายๆ แต่น่าสนใจดี คนที่คิดก็คือ National Retail Federations โดยประกาศเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2005 จับเอากระแสของ Black Friday ว่าวันศุกร์เป็นวันลดราคาของ “ออฟไลน์” ดังนั้นวันจันทร์ ที่กำลังจะถึงนี้เป็นวันลดราคาของ “ออนไลน์” และแน่นอนว่ามีหลายคน พลาดสินค้าราคาถูก จาก Black Friday เราก็มี Cyber Monday เป็นทางออกของนักช้อปที่ต้องการของดีราคาถูก เพียงแต่ต้องมาซื้อออนไลน์ เท่านั้น งานนี้คนที่รวยคือ Amazon และเว็บ Retail รายอื่นๆ เมืองไทยจะจัดวันช้อปปิ้งออนไลน์แบบนี้บ้างก็ไม่เลวนะครับ อาจช่วยกระตุ้นให้มีการซื้อขายออนไลน์กันมากขึ้นก็ได้ ดีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย มีการอ้างอิงกันไว้ในวิกิพีเดียว่า Cyber Monday สร้างรายได้ในวันที่ 7 ธันวาคม ปี 2007 881 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากที่ Black Friday ทำได้ 41,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึงจะห่างกันมาก แต่ก็เป็น “Marketing terms” ที่มีพลังทีเดียว – อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ผมเขียนแยกไปอีกตอนได้ที่นี่ครับ

เดินเล่นในซิลิคอนวัลเล่ย์

หลังจากสัมมนาที่ Yahoo! เสร็จไปได้ด้วยดี ช่วงวีคเอนด์ที่เหลือ ผมก็เลยขอ ให้เพื่อนๆ พาเดินในซิลิคอน วัลเล่ย์ ซึ่งจริงๆ แรกๆ ผมก็เดินดูตามออฟฟิศ ของบริษัทต่างๆ เพราะเห็นแต่ บริษัทตัวเอง ก็ยังไงๆ อยู่ เลยเดินมันไปเกือบ ทุกบริษัทเท่าที่จะเดินได้

จาก Yahoo! ที่ Sunnyvale ก็ขับรถเล่นผ่านไปถึง Nvidia, Sun Microsystems, Cisco, Microsoft, Facebook, Twitter, Google, Ning, SAP แต่ผมมองออฟฟิศแต่จากข้างนอกนะครับ เพราะผมว่ามันคงไม่เหมาะสม ที่จะเดินเข้าไป โดยไม่ได้รับเชิญ

ขณะที่เดินทางคราวนี้ ผมก็ถามเพื่อนๆ ว่าเหตุผลที่ซิลิคอน วัลเล่ย์ ดึงดูดให้คนมาลงทุนที่นี่ และเป็นเหมือนจุดศูนย์กลางของโลก ดิจิตอลเทคโนโลยี มันเพราะอะไร ก็ได้คำตอบว่า ที่นี่มีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ในนิเวศวิทยาของมัน 3 อย่างคือ บุคลากร เงินทุน และวัฒนธรรมความเป็นเจ้าของกิจการ และความคิดสร้างสรรค์

1.บุคลากร
ในซิลิคอน วัลเล่ย์ อุตสาหกรรมดิจิตอลเทคโนโลยีจะขับ เคลื่อนไปได้ ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความสามารถ ที่นี่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายต่อหลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ สแตนฟอร์ด ที่ผู้ก่อตั้งบริษัทดังๆ ก็จบจากที่นี่ อย่าง Jerry Yang, David Filo แห่ง Yahoo! และ Sergey Brin, Larry Page แห่ง Google เรียกได้ว่านอกจากเป็นแหล่งผลิตบุคลากรชั้นดีแล้ว ก็ยังสามารถ รับสมัครพนักงานเก่งๆ รุ่นใหม่ได้จากที่นี่โดยตรงอีกด้วย

อันนี้ฮามาก ไม่กล้าเดินขึ้นไป เลยถ่ายมาแค่ป้าย Ning ;p

2.เงินทุน
บรรดาคนทำงานด้านดอทคอมทุกคนจะรู้จักถนน Sandhill ที่ว่ากันว่าเป็นแหล่งรวมของบริษัท Venture Capital หรือที่ เรียกกันสั้นๆ ว่า VC ใครที่มีไอเดียใหม่ๆ ใครที่อยากได้คำแนะนำดีๆ อยากได้เงินนำไปลงทุน ก็มาคุยกับ VC อย่าง Kleiner Perkins ที่นี่ได้ หรือเลยออกไปทาง Menlo Park ก็จะมี Sequoia Capital ลองไปเสิร์ชกันดูนะครับว่าบริษัทเหล่านี้ลงทุนกับบริษัทดอทคอมอะไรกันบ้าง แต่ทั้งนี้ระบบ VC นั้นในเมืองไทยได้ยินมาว่าเริ่มมีบริษัทต่างชาติเริ่ม เดินสายเข้าไปบ้างแล้ว

3.วัฒนธรรมความเป็นเจ้าของกิจการและความคิดสร้างสรรค์
ด้วยความโด่งดังและความสำเร็จของซิลิคอน วัลเล่ย์ มาหลาย ยุคหลายสมัย ทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกฝันอยากจะสร้าง ซิลิคอน วัลเล่ย์ในประเทศของตัวเองบ้าง เช่น บังกาลอร์ ที่อินเดีย ไซบีเรียที่รัสเซีย จงกวนชุน ที่เมืองจีน หรือในประเทศไทยเองก็เห็นว่า เราพยายามผลักดันภูเก็ต ให้เติบโตอย่างนั้นบ้าง

แต่สิ่งที่แตกต่างที่สุด (และผมว่าน่าจะสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่เลียน แบบซิลิคอน วัลเล่ย์ยาก) ก็คือวัฒนธรรมความเป็นเจ้าของกิจการ และความคิดสร้างสรรค์ ถ้าทุกๆ ประเทศเน้นย้ำเรื่องวัฒนธรรมความคิดสร้างสรรค์ การศึกษา ที่บ่มเพาะให้คนได้คิด ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของระบบการศึกษา และระบบ ความคิดเรื่องการเป็น เจ้าของกิจการที่ต้องปลูกฝัง กันยาวนาน ถึงจะสำเร็จได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ต่างกัน อย่างเมืองไทย ปัจจัยขั้นพื้นฐานเรายังต้องพัฒนาเพิ่มเติม อย่างง่ายๆ เช่น ไฮสปีตอินเทอร์เน็ตบ้านเรา ตอนนี้ที่ว่าเร็ว 8 MB แต่ที่อเมริกาปา เข้าไปอย่างต่ำเป็นหลักร้อย MB ในราคาที่ไม่แพงเช่นกัน แต่อันนี้ก็น่าเห็นใจว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในบ้านเรา มีฐานลูกค้าแค่ในเมืองไทย คนใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 16.1 ล้านคน อาจจะเทียบไม่ได้กับที่อเมริกา

* แนะนำให้คุณผู้อ่านลองอ่านบทความเรื่อง “มองการลงทุนนอกกรอบซิลิคอน วัลเล่ย์” เพิ่มเติมนะครับ

กินข้าว เดินเล่น เข้าร้านหนังสือ
การเดินทางไปซิลิคอน วัลเล่ย์คราวนี้ผมฝากท้องไว้กับเพื่อนๆ คนไทยที่ทำงาน ที่นั่นและถามเขาเรื่องการใช้ชีวิตซะมากกว่า เพื่อซึมซับเอาบรรยากาศ และทำความเข้าใจว่าทำไมซิลิคอน วัลเล่ย์ถึงเป็นจุดที่นักลงทุนจากทั่วโลก เดินทางมาปักหลักลงทุนที่นี่

ตามประสาคนทำงานที่นั่น ถ้าผมไปถามอะไรที่มันเป็นทฤษฎีจ๋ามากๆ คงไม่มีใครตอบ เลยอาศัยมองดูรอบๆ ตัวว่าคนที่นั่นใช้ชีวิตกันยังไง เอาอย่างง่ายๆ ว่าไปกินข้าว ผมถามว่าจะไปกินข้าวที่ไหนดีวันนี้ มีอะไรแนะนำบ้าง เพื่อนผมเสิร์ชแล้วไปเจอเว็บ Yelp.com เว็บดังที่ซาน ฟรานซิสโก ซึ่งเป็นเว็บไซต์แนว Social Networking ที่คนอเมริกันจะเข้าไป เขียนรีวิวกันว่าไปกิน ไปเที่ยวที่ไหนมาแล้วชอบหรือไม่ชอบอย่างไร แล้วก็จะได้เพื่อนที่ชอบกินชอบเที่ยวที่เดียวกันเพิ่มขึ้นมาอีก และเราก็ลอง ไปตามร้านที่สมาชิกใน
Yelp.com แนะนำกัน

พอไปถึงหน้าร้านก็เจอป้ายนี้ครับ

ร้านอาหารอิตาเลี่ยนร้านนี้ภายนอกดูธรรมดาๆ ไม่ได้ไฮเทคอะไรเลยครับ แต่ว่าเจ้าของร้านเข้าไปทำการตลาดของร้านตัวเองผ่านทาง Yelp.com เป็นประจำ ผมถามว่าเขาทำมานานเท่าไหร่แล้ว เขาบอกว่าทำมานานแล้วจำไม่ได้ แต่ว่านอกจาก Yelp.com แล้ว เขาก็ยังเข้าไปตอบคำถามลูกค้าทาง CitySearch.com อีกด้วย ลูกค้าบางรายบอกว่าอาหารอร่อยมากก็เข้าไปขอบคุณ ใครบอกว่าไม่อร่อยเลย เขาก็เข้าไปตอบว่าเมนูไหนไม่อร่อย เขาจะปรับปรุง อย่างนี้ก็มีนะครับ พอสมาชิกของ Yelp.com คนอื่นๆ มาเห็นก็ทำให้ “เชื่อ” ได้ว่าร้านนี้ยังมีการปรับปรุง และใส่ใจลูกค้าตลอด แบบนี้ยังน่าไปอุดหนุน เมืองไทยน่าจะมีเว็บแบบนี้กันบ้างนะครับ

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งที่เจอคือ เวลาผมเดินไปตามจุดต่างๆ ของเมือง คนมีอายุแค่ไหนก็ใช้อินเทอร์เน็ตได้ ไม่มีใครมาบอกว่า “โอ้ย ฉันเป็นคนโลวเทค” คนที่นี่เกือบทุกคนทำอะไรไม่ได้คำนึงถึงเรื่องวัย เป็นที่ตั้งครับ แต่ดูว่ามันเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองหรือเปล่า

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าเราเดินไปผ่านร้านค้า ร้านกาแฟข้างทาง แล้วเขาจะมีเว็บไซต์ของร้านตัวเองเพื่อให้คนเข้ามาดูสินค้า และแนะนำบริการของตัวเอง หรือแม้แต่ศิลปินข้างทางคนนี้ เขาเรียงหินทีละชั้นๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ ก็มีช่อง YouTube ของตัวเอง ผมถามเขาว่าคุณมีรายได้จากผู้ชมที่เดินผ่านไปผ่านมาเท่านั้นหรือ เขาบอกว่าไม่เลย เมื่อก่อนน่ะใช่ แต่ตอนนี้ตั้งแต่เขาเอางานศิลปะของเขาขึ้น อินเทอร์เน็ต ก็มีคนเดินมาดูมากขึ้น มีคนบอกต่อมากขึ้น จนกระทั่งทำชิ้นงาน โฆษณาให้กับ Coca-Cola และจากผลงานเหล่านี้ทำให้เขาได้ไปสอน ศิลปะให้กับเด็กๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยในแคลิฟอร์เนียอีกด้วย

อย่างเวลาเดินเข้าไปในร้านหนังสือที่นี่อย่าง Borders, Barns & Noble ในร้านก็ปรับตัวให้คนที่เข้าไปในร้านซื้อหนังสือได้สะดวกขึ้น อย่างเช่น อยากจะอ่านหนังสือไปด้วยดื่มกาแฟไปด้วยก็มีโต๊ะให้นั่งอ่านกันเต็มที่ คือไม่กั๊กเหมือนเมืองไทย รวมถึงเรื่องพื้นๆ อย่าง การติดตั้ง เครื่องคอมพิวเตอร์ให้เราค้นหาหนังสือ, ซีดี, Audio book ในร้านได้สะดวกมากขึ้น



และตอนนี้เทรนด์ใหม่มาแรงที่อเมริกาก็คือตัว eBook reader ถ้าเราเดินเข้าไปใน Barns & Noble ก็จะเห็น “Nook Readers” ที่ทางบริษัทจัดทำขึ้นมา ในแบบเดียวกับ Amazon Kindle แต่ถ้าเราเดินเข้าไปใน Borders ที่นั่นก็จะขาย e-Readers ของ Sony ผมถามคนขายว่าขายได้ไหม เขาบอกว่าไม่ได้ขายดีมาก แต่ขายได้เรื่อยๆ อย่างน้อยก็ดีกว่าเมื่อหลายปีก่อน เพราะตอนนี้อุปกรณ์ประเภทนี้ พัฒนาไปเยอะมาก และข้อดีของมันก็คืออยู่ที่ไหนก็ซื้อหนังสือได้ เพราะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายเข้ากับอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย (*บทความนี้เขียนเมื่อช่วงปีใหม่ ยังไม่มีการเปิดตัว iPad นะครับ)

สิ่งที่น่าคิดก็คือที่อเมริกามีการผลักดันให้เจ้าตัว e-reader พวกนี้จริงจัง มากขึ้น รูปแบบธุรกิจของร้านหนังสือก็จะเริ่มเปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อย เช่น จากเดิมติดต่อกับสำนักพิมพ์ต่างๆ ให้ส่งหนังสือมาขาย ต่อไปก็จะรับ ต้นฉบับอิเล็คทรอนิคส์มาขายต่อทางเว็บไซต์ ของร้านในราคาที่ถูกลง เพราะต้นทุนทางการพิมพ์และการขนส่ง การจัดสต๊อกลดลง สิ่งที่ต้อง รอดูกันต่อไปก็คือ คนจะอ่านหนังสือผ่านทางอุปกรณ์เหล่านี้ในอัตราที่มากขึ้น กว่าเดิมแค่ไหน

การเดินทางไปซิลิคอน วัลเล่ย์คราวนี้อาจจะสั้นไปสักนิด แต่ก็ได้ไปดูถึงแนวโน้ม ใหม่ๆ และวิถีชีวิตของคนในซิลิคอน วัลเล่ย์ถึงสถานที่จริง สำหรับคุณผู้อ่าน ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นไปในซิลิคอน วัลเล่ย์ ผมแนะนำ ให้อ่านเว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับซิลิคอน วัลเล่ย์โดยเฉพาะนะครับ เช่น Silicon Alley Insider และ TechCrunch

วิธีฝึกดูจิตด้วย Twitter

Screen shot 2009-10-18 at 5.23.52 PM

วันนี้อ่านหนังสือ “เคล็ดลับดับทุกข์” ของ ว.วชิรเมธี ในหนังสือเล่มนี้ก็เป็นการเผยแผ่ธรรมะทั่วๆ ไป แต่มีอยู่ตอนหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับเรื่องการดูจิต การตามอารมณ์ ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าเอามา apply ใช้กับ Twitter ได้เลยเอามาเขียนแชร์กันตรงนี้ บอกตามตรงนะครับว่าไม่แน่ใจว่าวิธีการประยุกต์ของผมมันจะเวิร์คหรือเปล่า แต่มันก็น่าลองนะ… ใครได้ผลอย่างไรเอามาบอกกันด้วย

ก่อนที่จะเข้าเรื่อง ขอให้อ่านบทความส่วนหนึ่งที่ผมขออนุญาตคัดลอกมาลงตรงนี้ก่อนนะครับ คัดมาจากหน้า 65 ชื่อตอนว่า “ตื่นรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ”

– – – – – – – – – –

“หลายท่านในที่นี้เคยปฎิบัติธรรม หลายท่านก็เป็นศิษย์มีครู ฟังมาแล้ว 4 เรื่องอาจจะเด็กๆ อะไรก็ไม่รู้ ก็พูดตามเขา เรื่องนี้สำคัญนะ คือฝึกจิตให้เกิดรู้ ฝึกใจให้เกิดรู้นี่ฝึกยังไง ก็คือให้เรามีสติรู้เนื้อรู้ตัว คนโบราณเวลาที่ลูกหลานจะไปไหนเรียกลูกหลานมาใกล้ๆ ลูบหัวแล้วว่าลูกทำอะไรให้รู้เนื้อรู้ตัวนะ

“คำว่ารู้เนื้อรู้ตัวนี่สำคัญนะ ทางเมืองเหนือจังหวัดบ้านเกิดอาตมา เชียงราย เชียงใหม่ จะมีคำอยู่คำหนึ่งสำคัญมาก ภาษาเชียงราย เชียงใหม่นะ ฮู้คิงก่อ ก็คือรู้ตัวบ้างไหม มันลึก ก็คือ What are you doing? (ตรงนี้เองที่ตรงกับ Twitter – ผู้คัดลอก) คุณกำลังทำอะไร รู้ตัวไหม คุณกำลังด่าฉันฉอดๆๆ รู้ตัวไหม ถ้ารู้ตัวมันจะไม่ด่านะ ทำเป็นเต้นแร้งเต้นกา ฟาดงวงฟาดงาต่อหน้าธารกำนัลนี่ ถ้ารู้ตัวมันไม่ทำใช่ไหม แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ทำอย่างไรถึงจะรู้เนื้อรู้ตัว คือมีสติอยู่ตลอดเวลา ทำอย่างไรก็ต้องฝึกใจให้เกิดรู้ เพราะฉะนั้นคำทักทายของล้านนา ฮู้คิงก่อของคนโบราณนี่แสดงว่าเป็นคนที่ลึก ลึกพอๆ กับที่คนภาคใต้ร้องเพลงกล่อมเด็กแล้วมีนิทานอยู่ในนั้น ท่านพุทธทาสเขียนว่า มะพร้าวนาฬิเก ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย เพลงกล่อมเด็กทางใต้ก็จะมีนิทาน ในภาษาเหนือที่ว่าฮู้คิงก่อก็มีเรื่องของการเจริญสติของล้านนา ลึกไหมละ”

– – – – – – – – – –

อ่านจากบทความข้างต้น ถ้าเราจะมาลองถามใจตัวเราเองมาถามกันว่า “ฮู้คิงก่อ” แบบท่านวอบ้าง ก็มาลองใช้ Twitter กันดูบ้างเป็นไร ผมเห็นเพื่อนๆ หลายคนชอบใช้ Twitter อัพเดทเรื่องราวของตัวเองแทบจะทุกอากัปกิริยา เช่น เดินไปตลาดก็ทวีต เดินกลับมาถึงบ้านก็ทวีต กินข้าวก็ทวีต แม้กระทั่งกลับบ้านเข้าส้วมก็ยังทวีตเลย อย่ากระนั้นเลย เราลองปรับ mindset ของเราในการใช้ Twitter เพื่อประโยชน์ในการฝึกดูจิตของเราบ้างไหม?

วิธีการฝึกดูจิตด้วย Twitter ไม่มีอะไรมากครับ เวลาเราเข้ามาที่ Twitter ให้เราลองตามอารมณ์ตัวเองว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร คิดอะไรอยู่ แล้วทวีตออกไป เช่น ตอนนี้ห้าโมงเย็น ตอนนี้ผมกำลังเขียนบล็อกเรื่องการดูจิตด้วย Twitter ก็ทวีตไป เสร็จแล้วตามด้วย “รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เอาธรรมะมาลองผูกกับ Twitter อยากรู้จริงว่ามันจะเวิร์คสักแค่ไหน” เสร็จแล้วให้มองลึกลงไปในใจว่าเรารู้สึกอย่างไรก็ทวีตลงไป

ท้ายที่สุดผ่านไปแล้วสักสี่ห้าทุ่มก่อนจะนอนลองกลับมาดูว่าตัวเราได้ทวีตอะไรไปบ้างในแต่ละวัน เหมือนกับเป็นการทบทวนว่าวันนี้เรามีอารมณ์อะไรบ้าง เราทวีตไปบ่อยครั้งนั้นมีประโยชน์อันใด สนุก รู้สึกดี รู้สึกดีที่ได้บอกให้เพื่อนรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ หรือรู้สึกดีที่ได้แชร์เรื่องดีๆ กับคนทั่วไป บอกกับตัวเราให้ได้ว่าทั้งวันที่เราทวีตไปนั้น มันตรงกับใจของเราหรือเปล่า แล้วมีข้อความไหนบ้างไหมที่เราอ่านแล้ว “เฮ้ย เราทวีตอย่างนั้นออกไปได้อย่างไร?” อย่างผมเองเจอกับตัวแล้วครับ เมื่อวานไปดูหนังเรื่องรถไฟฟ้ามาหานะเธอมา ที่โรงหนังเขาฉายหนังโฆษณานานมาก เพราะหนังดัง ผมก็หงุดหงิดเลยทวีตด่าออกไปว่า “โรงหนังนี้ห่วยมาก ถือว่าหนังดังเลยโฆษณานาน รอมาทั้งกว่า 40 นาทีแล้ว” แล้วผมก็สะใจที่ได้ทวีต

แต่พอมาดูตอนนี้รู้สึกได้เลยว่า เราควรจะต้องฝึกอีกเยอะเลย ฝึกให้ Twitter เป็นเครื่องมือตามดูอารมณ์เรานะครับ ไม่ใช่เครื่องมือระบายอารมณ์แบบที่ผมทำเมื่อวาน
ลองดูนะครับ ได้ผลอย่างไรบอกกันด้วย

สัมภาษณ์ออกรายการ “คุยกันวันเสาร์” ช่วง Digital life

@tukko สัมภาษณ์ผมออกรายการคุยกันวันเสาร์ ช่วง Digital life ออกอากาศเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2552 เวลา 19.00 – 20.00 น. TNN 24
เป็นการแนะนำผลิตภัณฑ์ครับ

Twitter ความจำเป็นทางการตลาดที่ต้องเริ่มวันนี้

Screen shot 2009-09-17 at 8.17.53 PM

เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คาดว่าคุณผู้ใช้ Twitter หลายคนคงหงุดหงิดไม่น้อยเมื่อพบว่าเจ้าบริการ Micro-blogging ยอดนิยมนั้นล่มนานหลายชั่วโมง ขณะนั้นผมก็กำลังออนไลน์อยู่เหมือนกัน เสียงตอบรับที่ได้ รับกลับมาผ่านทาง Facebook หลายสิบข้อความก็คือ “ไม่น่าล่มเลย ตอนนี้ขาด Twitter ไม่ได้ เหมือนขาดช่องทาง ในการสื่อสารไปอย่างหนึ่ง แย่จัง”

เสียงตอบรับข้างต้นนี้คงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนแล้วนะครับว่า Twitter เป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารของคนบนโลกอินเทอร์เน็ตไปแล้ว ดังนั้นในแง่ของการตลาด การที่เราจะเข้าไปมีส่วนในการสื่อสารกับคนในสังคมจึงเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องทำ และในวันนี้ผมก็อยากจะมาย้ำข้อความนี้กับคุณผู้อ่านอีกสักครั้งว่า ถ้าคุณยังไม่ได้เริ่ม คุณจำเป็นต้องเริ่มได้แล้ว เพราะอะไร? เพราะ Twitter เป็นพื้นที่การสนทนาของผู้บริโภค ที่เปิดให้นักการตลาดเข้าไปมีส่วนร่วมได้

สมัยก่อน Brand positioning ตลอดจนทิศทางทางการตลาดล้วนถูกกำหนดมาจากนักการตลาด ที่ทำการสำรวจทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ แต่วันนี้ Brand positioning ของสินค้าและบริการใดๆ ล้วนเกิดจากการนิยามของผู้บริโภค

ตัวอย่างที่ 1 มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เพิ่งเปิดศูนย์ตรวจสุขภาพใหม่ และประชาสัมพันธ์ออกไปว่าทางโรงพยาบาลได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับต้นๆ ของประเทศ พร้อมทั้งได้จัดซื้อเครื่องมือ ในการตรวจร่างกายที่มีประสิทธิภาพสูงมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท วันหนึ่งคุณอยากตรวจสุขภาพ ก็เลยลองไปที่โรงพยาบาลนี้ ไปนั่งรอคิวอยู่แล้วรอนานเกิน 3-4 ชั่วโมง เดินไปถามพนักงานก็แล้ว ถามพยาบาลก็แล้ว ปรากฏว่าคุณหมอทุกคนยุ่งหมด คุณรอไม่ไหวก็เลยเดินจากไป ไปเข้าคลีนิคเล็กๆ ที่อาจจะไม่ดีเท่า แต่ให้บริการได้ดีกว่า

ถามว่าความรู้สึกของคนไข้ที่มีต่อแบรนด์ของโรงพยาบาลจะเป็นอย่างไรบ้างครับ? แน่นอนว่า มันจะเป็นความรู้สึกเชิงลบ “ปล่อยให้รอได้ตั้ง 3-4 ชั่วโมง บริการแย่มาก วันนี้จะกลับไปเขียนบล็อกด่าซะให้เข็ด tweet มันอีกสัก 3 รอบ (คนไข้รายนี้มีคน follow อยู่ 1,000 ราย)” ในขณะที่บุคลากรในโรงพยาบาล อาจจะคิดในมุมกลับกันว่า “วันนี้คนไข้มารอตรวจสุขภาพ เยอะมาก เป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ เรื่องเครื่องมือใหม่ของเรา และการจัดอันดับแน่ๆ เลย มีบางคนรอไม่ไหวกลับบ้านไปก่อนนิดๆ หน่อยๆ แต่คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ คราวหน้าเราต้องจัดคนมารับจำนวนคนไข้ให้ได้มากกว่านี้”

คุณผู้อ่านมองเห็นภาพไหมครับว่ามันคนละเรื่องกันเลยนะครับ ในโลกที่อะไรๆ เปลี่ยนแปลงเร็ว คุณกำลังจะเสียลูกค้าอีกนับพันคน จากการที่คุณให้บริการได้ไม่ดีกับคนเพียงคนเดียวก็เป็นไปได้

ถ้านักการตลาดที่สนใจจะ “ฟัง” ลูกค้าอย่างจริงจัง คุณจำเป็นแล้วล่ะครับที่จะต้องเข้ามาใช้ Twitter เข้ามาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับลูกค้าอย่างจริงจัง ถ้าคุณเริ่มใช้ Twitter และเข้าไปร่วมวงสนทนากับลูกค้า หรือ “Join conversation” กับลูกค้าที่สนใจในสินค้าและบริการของคุณ โดยใช้ Twitter ในการ ปรับความเข้าใจ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของแบรนด์ของคุณ ยกตัวอย่างอีกทีนะครับ

คนไข้ที่เสียความรู้สึก tweet ไปว่า 
“วันนี้ไปที่โรงพยาบาลก.ไก่ รอตรวจสุขภาพ 4 ชั่วโมง บริการแย่มาก ไม่ไปแล้ว”
คุณซึ่งเป็นฝ่ายการตลาดเข้าไปตอบว่า
“เราเปิดศูนย์เป็นวันแรก ทำให้จัดคิวพลาด ทางโรงพยาบาลขออภัยอย่างสูงค่ะ
รบกวนช่วยติดต่อกลับเพื่อรับบริการพิเศษจากทีมงานแพทย์ของเราด้วยค่ะ”

จากตัวอย่างข้างต้นคุณผู้อ่านจะเห็นได้ว่านี่เป็นการใช้ Twitter ในการแก้ไขปัญหา และป้องการการสูญเสียชื่อเสียงของโรงพยาบาลได้ Twitter จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่เราจะทำหรือไม่ทำก็ได้

ตัวอย่างที่ 2

ผมขอยกตัวอย่างที่มาจากตัวเองเลยนะครับ 

วันก่อนนี้ผมได้รับอีเมลฉบับหนึ่งจากเพื่อนที่สนิทกันที่ฟอร์เวิร์ดมา (พร้อมกับรายชื่อคนใน cc list ประมาณ 200 คน) เขียนตำหนิร้านอาหารญี่ปุ่นร้านหนึ่งว่าปรับเมนูอาหารใหม่แล้วขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม ผมเจอเขาออนไลน์อยู่จึงถามดู เขาก็ยืนยันว่าจริง ผมเลย Tweet ลงไปว่า “ร้านอาหารนี้ขึ้นราคา 10-15% จะสั่งก็ระวังๆ กันหน่อยนะครับ” ปรากฏว่ามีคน Retweet ที่ผมเขียนไปถึง 15 ครั้ง และผมสำรวจคร่าวๆ ปรากฏว่า 15 รายนี้มี Follower อยู่รวมกันประมาณ 1,500 ราย นี่ยังไม่รวมถึงคนที่เข้าไปก่นด่าร้าน อาหารร้านนี้ในเว็บบอร์ดอีกหลายๆ แห่ง ซึ่งบางแห่งก็มีอดีตพนักงานเก่าของร้านมาร่วมด่าด้วยว่าร้านนี้ไม่ดีจริงๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วร้านอาหารนี้บริการดี อาหารอร่อย แต่ปรับราคาและปรับเมนูใหม่เยอะจนทำให้ลูกค้าเสียความรู้สึก

นั่นหมายความว่าร้านอาหารญี่ปุ่นเจ้านี้กำลังมีแนวโน้มเสียลูกค้าถึงเกือบๆ 2,000 ราย เป็นอย่างน้อย ถ้าเพียงแต่ฝ่ายการตลาดของร้านอาหารนี้ลงมา “Join conversation” ไม่จำเป็นว่าต้อง Twitter ที่เดียวครับ จะเป็นช่องทางอื่นด้วยก็ได้ ก็อาจจะช่วยป้องกันไม่ให้เราเสียลูกค้าไปได้

ทั้งหมดนี้ผมเพียงแต่จะบอกว่า… ในฐานะนักการตลาดรุ่นใหม่ Twitter เป็นตัวอย่างหนึี่งของความจำเป็นทางการตลาดอย่างยิ่งยวด ที่เราจะต้องใช้ Social media ในการเข้ามาปรับความเข้าใจและปกป้องแบรนด์ของเรา เพราะแบรนด์อยู่ในมือลูกค้า ไม่ใช่ในมือของเราอีกต่อไปแล้ว

หลังจากจบบทความนี้ ขอแนะนำว่า:
1. กรุณาลงทะเบียน http://www.twitter.com
2. ค้นหา Google, Yahoo!, Bing, Pantip, และเว็บ Community อื่นๆ โดยใส่ชื่อแบรนด์ของคุณ ตามด้วยคำว่า “ดี, บริการดี, แย่, ห่วย” คุณจะพบว่าผู้บริโภคพูดถึงแบรนด์ของคุณไว้ว่าอย่างไร แล้วพยายาม Join conversation เสียแต่วันนี้
3. อ่านรูปแบบการทำการตลาดจาก Cover story ของ Positioning ได้ในเล่ม

White Label Social Network หนึ่งในทางออกการตลาดออนไลน์ปีวัวดุ

สำหรับคุณผู้อ่านที่ติดตามงานของผมในนิตยสาร Positioning ผมอยากให้กลับมาอ่านที่ Blog อีกครั้งทุกๆ เดือนนะครับ เพราะหลายครั้งเลยที่กองบก. จำเป็นต้องตัดบางส่วนของต้นฉบับผมออกไป อย่างเรื่อง “Social Network สร้้างได้” ในฉบับ Facebook นี่ก็ลงไม่เต็มครับ ผมเข้าใจว่าเป็นเพราะพื้นที่จำกัดจริงๆ ผมเลยเอาต้นฉบับที่เขียนจริงๆ มาลงไว้ที่นี่นะครับ
– – – – – – – – – –

ปีนี้เราๆ ท่านๆ จัดซื้อจัดจ้างได้น้อยลง วันนี้ผมเลยอยากเสนอแนวคิดที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำการตลาดด้วยการสร้าง Social Network แบบง่ายๆ ด้วยตัวคุณเองขึ้นมา เพื่อให้นักการตลาดสามารถสร้างและรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเขียนโค้ดมากมาย

แต่ปัญหาคือ ในภาวะเศรษฐกิจจะซบเซา หลายบริษัทจำเป็นต้องหั่นงบประมาณการตลาด-โฆษณา-ประชาสัมพันธ์เหลือเพียงน้อยนิด จะจ่ายเงินทำการตลาดทีต้องคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ การดึงเอาสื่อออนไลน์โดยเฉพาะสื่อที่กำลังมาแรงอย่าง Social Networking ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เช่น Facebook, Hi5, หรืออย่าง Friendster มาเป็นหนึ่งในส่วนผสมทางการตลาดก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี เพราะมันวัดผลได้ชัดเจน เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เฉพาะเจาะจงในราคาที่สมเหตุสมผล

ผมจะแนะแบบลงรายละเอียดให้เข้าใจกันได้สบายๆ รับรองว่าคุ้มค่าต่อการเสียเวลาอ่าน (โฆษณาชวนเชื่อมาก ฮ่าๆ) ตามมาเลยครับ!

ที่จริงเมื่อปีที่แล้วทางนิตยสาร Positioning เคยนำเสนอสกู๊ปเกี่ยวกับเรื่อง Social Network แบบเต็มๆ ไปแล้วทีนึง (ย้อนอ่านใน Positioningmag.com ได้นะครับ) ทางกองบก. Positioning เคยเสนอไปว่าคุณไม่จำเป็นต้องสร้างเว็บไซต์ใหม่ขึ้นมาให้เปลืองงบ แต่ให้กระจาย advertising message ผ่านทางเว็บ Social Network, Blog site ต่างๆ

วันนี้ผมก็ยังยืนยันเหมือนทางกองบก. นะครับ แต่สิ่งที่ผมอยากแนะนำเพิ่มคือ ณ วันนี้เทคโนโลยีทางอินเทอร์เน็ตมันพัฒนาไปเร็วมาก จนกระทั่งมันมีกลุ่มบริษัทสร้างผลิตภัณฑ์ออนไลน์ที่เรียกกันว่า “White label Social Network” ที่ให้บริการโฮสติ้งและแพลตฟอร์มที่พร้อมให้เราสร้าง Social Network ของเราได้เองแบบง่ายๆ ซึ่งมีอยู่หลายเจ้ามาก แต่ก็ยังรู้สึกว่ามันใช้งานได้ยาก ผมเองศึกษาอยู่พักใหญ่จนวันนึงได้เจอฮันท์ แห่ง DiaryIs.com แนะนำให้ผมรู้จัก Ning.com และผมก็ได้ทดลองสร้าง Social Network ของผมเองจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งที่คิดว่านำมาแชร์กับคุณผู้อ่านได้

อันนี้เป็นประสบการณ์ของผมเอง ผมจึงจะเล่าแบบสรุปเอาที่สำคัญๆ มาดังนี้นะครับ
1. ตั้งเป้าหมายก่อนว่าจะสร้าง Social Network ของอะไร กลุ่มเป้าหมายคือใคร มีจุดประสงค์อะไร

2. เปิดเข้าไปที่ Ning.com สร้าง Social Network แบบฟรีๆ ก่อน เช่น คุณต้องการสร้าง Social Network ของ Mac User คุณอาจจะตั้ง ThaiMacUser.org ขึ้นมา (ถ้าจดโดเมนไว้ก่อนกันคนอื่นแย่งไปก็ดีนะครับ) คุณก็สร้าง ThaiMacUser.ning.com ขึ้นมา เพราะคนที่สร้างเว็บฟรีก็จะต้องใช้ Subdomain ที่มีชื่อ Ning ผสมอยู่ด้วย

3. Ning จะระบุว่าคุณคือ “Network Creator” พร้อมกับแนะนำให้คุณใส่รายละเอียดเกี่ยวกับ Social Network ของคุณว่าคุณตั้งใจจะทำอะไร ใส่โลโก้ ใส่สโลแกน ใส่ Meta Tag ให้ Search Engine มองเห็นคุณ

4. คุณคลิกเข้าไปที่แถบเมนูที่เขียนว่า “Manage” แล้ว เลือก “Feature” คุณจะเจอหน้าเว็บที่เป็นระบบหลังบ้าน ทางซ้ายจะโชว์ว่ามี Feature อะไรให้คุณบ้าง คุณก็แค่จับกล่องที่อยู่ทางซ้ายมือนั้นลากเข้ามาทางขวามือ แล้วกด Save แค่นี้คุณก็จะสร้าง Social Network ได้ง่ายๆ แล้ว ในแถบ Manage ยังทำอะไรได้อีกเพียบครับ

5. พอเว็บใช้งานได้แล้วก็อย่าลืมวาง Community Guidelines ด้วยล่ะครับ บ้านเมืองยังมีกฏหมายเลยจริงไหม?

ningbackyard

กรณีศึกษา aussietip.com
คราวนี้คงจะเห็นแล้วนะครับว่าแพลตฟอร์มของ Ning ทำอะไรได้หลากหลายดี ผมเองพอศึกษาเจออย่างนี้แล้วก็เลยขอทดลองกับเว็บไซต์ของตัวเองก่อน ผมมีเว็บไซต์เล็กๆ ของผมอยู่เว็บนึงครับชื่อว่า aussietip.com ซึ่งเดิมเป็นเว็บชุมชนคนไทยในประเทศออสเตรเลีย ผมสร้างเว็บนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2544 มาสมัยไปเรียนหนังสืออยู่ที่นั่น ตอนที่สร้างเว็บไว้ก็ทำสนุกๆ ด้วยใจรัก ตอนนี้ก็ร่วม 8 ปีแล้วครับ เมื่อปีที่แล้วตอนเจอกับ Ning เข้าผมก็เลยเอา Ning เข้ามาทดสอบกับ aussietip.com นี่คือผลที่ได้รับครับ

– ผมสามารถสร้างพื้นที่สำหรับคนไทยในประเทศออสเตรเลียทั้ง ซิดนีย์ เมลเบิร์น บริสเบน เพิร์ธ ดาร์วิน อะดิเลด ฯลฯ เข้ามาเชื่อมโยงกันได้ด้วยความสามารถของอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยการสร้างจุดร่วมในความสนใจ นั่นก็คือ คนไทยที่อยู่ต่างแดน แต่เหงาๆ มารวมตัวกัน

ซึ่งคนไทยที่อยู่ออสเตรเลียก็จะมีความต้องการสินค้าและบริการที่แตกต่างไปจากเมืองไทย และคล้ายๆ เมืองไทย ผมก็สามารถรับโฆษณาจากเอเย่นต์นักเรียน, ธุรกิจคนไทยในออสเตรเลีย, คนไทยมองหางานร้านอาหารไทย ก็มีเจ้าของร้านอาหารมาโพสต์ โดยเน้นว่า นี่คือ Social Network ของคนไทยในออสเตรเลีย เราสามารถสร้างให้ทุกอย่าง ‘Niche’ หรือเป็นตลาดเฉพาะได้ ปัจจุบัน aussietip.com มียอดสมาชิกกลุ่มเฉพาะนี้กว่า 3,000 คนทั่วออสเตรเลีย

– ผมสามารถลดรายจ่ายในการจ่ายค่าโฮสติ้ง จากเดิมปีละเป็นหลักหมื่นบาท ด้วยการทดลองติดโฆษณาเดือนหนึ่งทำรายได้หลายร้อยเหรียญสหรัฐฯ อันนี้คือผมมีฐานสมาชิกอยู่แล้วส่วนหนึ่งนะครับ โดยที่โฆษณาก็ feed เข้ามาแบบเว็บทั่วไป
- ผมสามารถช่วยสปอนเซอร์ของผมทำการตลาดใน Social Network ของผม อย่างง่ายๆ อย่างตอนนี้ผมมีสมาชิกคนหนึ่งชื่อคุณปุ้ย เธอเป็นสมาชิกที่อยู่ออสเตรเลียมานาน เป็นสมาชิก aussietip.com อยู่แล้วด้วย วันนึงเกิดเปิดกิจการของตัวเองเป็นบริการส่งของไปเมืองไทยชื่อ iThailandExpress

ดังนั้นนักเรียนไทยที่ไปเรียนที่ออสเตรเลียอยากส่งของกลับไปเมืองไทยก็มาเป็นลูกค้าได้ โดยที่ผมเปิดให้ทาง iThailandExpress สามารถ Interact กับสมาชิกของผมได้ตามสมควร โดยที่แตกต่างกับเว็บทั่วไปตรงที่สามารถติดตามได้ว่าลูกค้าต้องการอะไรได้จากเว็บบอร์ด และส่งอีเมลหาสมาชิกของผมหลังไมค์โดยผมกับทาง iThailandExpress ตกลงกันว่าจะไม่มีการ SPAM สมาชิกเด็ดขาด ตอนนี้บริษัทคุณปุ้ยกำลังไปได้สวยเลยครับ เพราะเราสามารถสร้างกลุ่มแฟนเฉพาะของเราได้ 
- แพลตฟอร์มของ Ning เปิดให้ผมสามารถพัฒนาเว็บไซต์ให้มี Feature หรือลูกเล่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ล่าสุดก็มี Advanced Member Search ที่เปิดให้สมาชิกค้นหาเพื่อนสมาชิกคนอื่นโดยเลือกจากเมืองที่อยู่ ช่วงอายุ มหาวิทยาลัย ฯลฯ

– ผมสามารถขยายฐานสมาชิกต่อไป โดยการดึงเอาโมเดลที่ทำกับกลุ่มคนไทยในออสเตรเลียมาทำกับเพื่อนๆ คนไทยที่ประเทศสิงคโปร์ในชื่อ Singtip.com ขณะนี้เปิด Social Network ตัวนี้มาได้ 1 ปีมีสมาชิกกว่า 1,000 คน และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

aussietip

บทสรุป
พลังของ Social Network ก็คือการสร้าง “Participation Architecture” คือการกำหนดแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมให้สมาชิกมีส่วนร่วมได้ง่าย ด้วยการเปิดให้เจ้าของ Social Network สามารถสร้างกลุ่ม “แฟนพันธุ์แท้” เฉพาะกลุ่มได้ ในแบบที่เว็บ Facebook, Hi5, MySpace, Friendster ไม่ทำแบบนี้ เพราะเว็บเหล่านั้นเขามี Brand เป็นของเขาเอง แต่ White Label Social Network อย่าง Ning เปิดโอกาสให้คุณสร้าง “Blue Ocean” ของคุณได้เองในต้นทุนที่ไม่หนักสาหัสอะไรนัก

สำหรับธุรกิจใหม่ที่มีฐานลูกค้าน้อยผมแนะนำว่าคุณสามารถ ‘Lead’ และสร้าง movement อะไรของคุณได้เองเลยครับ เช่น ถ้าหากว่าคุณเปิดคลีนิครักษาสัตว์ คุณก็สามารถสร้าง Social Network ของคนรักสัตว์เลี้ยงเข้าไปได้ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องโฆษณาคลีนิครักษาสัตว์ของคุณออกไปตรงๆ แต่ให้คุณใช้โอกาสนี้รวมกลุ่มของคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของคุณเข้ามาหาคุณ แทนที่คุณจะโฆษณาออกไปให้ลูกค้าเข้ามาหาคุณ แถมเผลอๆ คุณจะมีกลุ่มลูกค้าเป็นสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเข้ามาสนับสนุน และมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างมาก

ส่วนธุรกิจที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้วคุณก็สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ เช่น สร้าง Social Network ของคนใช้คอมพิวเตอร์ยี่ห้อหนึ่ง โดยที่คุณเปิดให้สมาชิกเข้ามาช่วยเหลือกันแก้ไขปัญหาการใช้งาน และคุณเองในฐานะเจ้าของผลิตภัณฑ์ก็เข้ามาสนับสนุนให้สมาชิกมีส่วนช่วยเหลือแก้ไขปัญหาซึ่งกันและกันได้ แถมยังมีพื้นที่ที่คุณจะได้ติดตามว่าลูกค้าคุณกำลังคิดอะไรอยู่ จะ Engage เขาให้ติดอยู่กับ Brand ของคุณได้อย่างไร อันนี้ก็จะทำให้คุณสามารถรักษาฐานลูกค้าของคุณไว้ได้ในช่วงเศรษฐกิจขาลงอย่างนี้ไว้ได้โดยที่ประหยัดงบประมาณได้มากครับ

– – – – –
มารู้จัก Ning กันหน่อย

logo

Ning.com เป็นเว็บไซต์แนว White Label Social Network ที่ก่อตั้งโดย Marc Andreessen ผู้สร้าง Browser Netscape ที่เคยโด่งดังเมื่อกว่าสิบปีก่อน คราวนี้เขากลับมาร่วมกับ Gina Bianchini CEO สาวสวย ด้วยโจทย์ง่ายๆ ว่าใครๆ ก็สร้าง MySpace, Facebook, Hi5 ของตัวเองได้ โดยตัว Ning เองมีโครงสร้างที่ “เปิด” ให้เชื่อมต่อกับ Online tools ตัวอื่นๆ ในโลกออนไลน์ได้ง่าย เช่น เปิดรับ Application ในโครงการ OpenSocial API ของ Google เปิดรับภาพจากเว็บไซต์ Photo Sharing ชื่อดังอย่าง Flickr ของ Yahoo!

ginamarc

Business Model
Ning เปิดให้คนเข้ามาสร้าง Social Network ได้ฟรี แต่จะแลกเปลี่ยนกับการที่ทาง Ning จะควบคุมโฆษณาที่ตัวเองมีรายได้กับทางโฆษณา Google AdSense แต่ถ้าหากว่าลูกค้าของ Ning รายไหนอยากทำให้ Social Network ของตัวเองดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น เช่น ใช้โดเมนเนมของตัวเอง, เพิ่มพื้นที่โฮสติ้ง, ลบลิงก์และโลโก้ของ Ning ออก, รวมถึงมีสิทธิ์ควบคุมโฆษณาได้ด้วยตัวเอง ก็จะต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนในแบบ Premium service ปัจจุบันมีผู้สร้าง Social Network ด้วยบริการของ Ning แล้วกว่า 500,000 networks คุณผู้อ่านอาจจะงงว่าแล้วถ้าสร้างเองมันมีดีอะไร ลองอ่านนี่ครับ

ning

1. มี Brand & Visual Design ของคุณเอง
คุณสามารถสร้าง Brand ใน Social Network ของคุณเอง ด้วยโลโก้และดีไซน์ของคุณเอง โดยทาง Ning มีเทมเพลทหรือหน้าเว็บสำเร็จรูปให้คุณเลือกกว่า 50 แบบ แถมยัง Customize ในแบบที่คุณชอบได้ด้วยการแก้ไข CSS เพิ่มและลดแถบเมนูต่างๆ ในหน้าเว็บ เพิ่ม Widget และสร้างลิงก์ต่างๆ ได้อย่างอิสระ

2. มีกลุ่มแฟนๆ ของคุณเอง
คุณสามารถออกแบบหน้าโปรไฟล์ของสมาชิกแต่ละคนได้ด้วยการตั้งคำถามอะไรก็ได้ก่อนที่คนที่อยากจะเข้าร่วม Social Network ของคุณ เช่น ชื่อ เพศ อายุ อยู่ที่ไหน ทำอะไร ชอบอะไร ฯลฯ เลือกที่จะ approve สมาชิกก่อนที่จะรับเข้ามาก็ได้ นอกจากนี้ยังเปิดให้สมาชิกปรับหน้าโปรไฟล์ของตัวเองได้อย่างอิสระในลักษณะคล้ายๆ กับการต่อเลโก้ในแบบ Drag & Drop

3. มีระบบแสดง Real-time Activity
ถ้ามีใครกำลังแอดใครเป็นเพื่อน ใครแชทกับใคร ใครเข้าร่วมกลุ่มก๊วนไหน คุณจะสามารถเห็นได้หมดในแบบ Real-time ทำให้ Social Network ของคุณดูแอคทีฟ และควบคุมได้ง่าย รวมทั้งเชื่อมโยงเข้ากับอีเมลของคุณตลอด ทำให้คุณไม่ต้องคอยนั่งมอนิเตอร์เว็บตลอดเวลา

4. จะใส่ Text หรือ Widgets อะไรก็ได้
ทาง Ning จะเปิดให้คุณใส่ Text box เข้าไปในหน้าเว็บโดยคุณเป็นคนเลือกตำแหน่งว่าจะให้มันอยู่ไหน แล้วเจ้า Text box ตัวนี้จะรองรับ HTML พวกโค้ดต่างๆ ทำให้คุณสามารถสร้างเว็บได้ง่ายและอิสระ เหมือนกับคุณก๊อบโค้ด Glitter ไป ‘เมนท์’ เพื่อนใน Hi5 ยังไงยังงั้น คุณก็ทำได้ใน Ning และแน่นอนว่าแพลตฟอร์มของ Ning ค่อนข้างเปิดรับภาษาต่างชาติรวมถึงภาษาไทยด้วย ปัญหาเรื่องภาษาไทยจึงมีน้อย คุณจะเขียน Blog หรือบทความ ตั้งกระทู้อะไรก็ได้ ใส่ภาพ ใส่วิดีโอ ได้ครบครัน

5. เปิดรับ RSS Feeds เข้าและออก
คุณสามารถเลือกเปิดรับ RSS feeds จาก Blog ของคุณหรือจากเว็บไหนก็ได้เอามาใส่ในแพลตฟอร์มของ Ning ในขณะเดียวกัน คุณสามารถสร้าง RSS ของคุณให้คนอื่นเอาไปแปะต่อได้เช่นกัน เช่น ใครอยากคอยอ่านอัพเดทความเคลื่อนไหวใน Social Network ของคุณก็เพียงแค่เอาโค้ด RSS ของคุณไปขยายต่อ ทำให้เว็บของคุณมีคนเข้ามาเยี่ยมชมบ่อยขึ้น

6. มีระบบ Photos Feature และ Photo Slideshows ใน Brand ของคุณเอง
คุณสามารถเพิ่มรูปภาพที่มี Brand ของคุณเข้าไป แถมยังสามารถเลือกดูแบบ Slideshows ก็ได้ แน่นอนคุณในฐานะผู้สร้าง Social Network คุณควบคุมทุกอย่างได้

7. มีเว็บบอร์ดของคุณเอง
เมืองไทยเราคุ้นเคยกับการเล่นเว็บบอร์ด และมีเว็บที่เสนอบริการฟรีเว็บบอร์ดมากมาย ในเมืองไทยก็จะมี Pantown ในเครือ Pantip.com ที่เปิดให้คุณใส่ Feature ต่างๆ เข้าไปได้ แต่ที่นี่คุณจะทำอะไรได้หลากหลายกว่านั้น เช่น สร้าง Category เพิ่มรูปภาพ วิดีโอ ไฟล์ชนิดต่างๆ โดยที่คุณเป็นผู้กำหนดได้ว่าจะจัดเรียงกระทู้อย่างไร ตามลำดับเวลา หรือตามกิจกรรมต่างๆ ในเว็บ คนไปตอบในกระทู้เก่ากระทู้เก่าก็เลื่อนขึ้นมาก่อน เป็นต้น

8. Video Feature & Branded Video Players ของคุณเอง
คุณสามารถเพิ่มไฟล์วิดีโอที่มีชื่อเว็บของคุณเป็นลายน้ำอยู่บนวิดีโอได้ เมื่อสมาชิกของคุณเอาไปฟอร์เวิร์ดให้เพื่อนดูก็จะเห็นชื่อเว็บของคุณไปเรื่อยๆ แถมยังสร้างโค้ดให้คุณโดยอัตโนมัติ ให้สมาชิกเอาวิดีโอของคุณไปแชร์ที่ไหนกับใครก็ได้ แน่นอนว่าคุณสามารถเลือได้เช่นกันว่าจะขอดูวิดีโอก่อนไหมว่ามันโอเคหรือเปล่า ไม่ใช่จู่ๆ ใครก็มาโพสต์กันได้หมด

9. สร้างห้อง Chat ของคุณเองได้
การสร้างห้อง Chat ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเดียวนี้คุณเล่น MSN, Yahoo! Messenger ก็ Chat กันได้ แต่มันก็เป็น feature ที่เปิดให้คุณสร้างห้อง Chat ใน Social Network ของคุณได้อย่างง่ายๆ ทำให้คนในเว็บของคุณคุยกันสะดวกมากขึ้น มีทางเลือกในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น

10. Facebook Integration
Feature รูปภาพ วิดีโอ MP3 Player แทบทุกตัวในแพลตฟอร์มนี้พร้อมจะเปิดให้เชื่อมต่อกับเครือข่ายของ Facebook ซึ่งเป็นข้อดีที่ทำให้คุณสามารถโปรโมท Social Network ของคุณได้กว้างยิ่งๆ ขึ้น

11. สร้าง Groups ของคุณเอง
เชื่อว่าคุณผู้อ่านคงเคยรู้จัก Yahoo! Groups แน่ๆ ที่ Yahoo! Groups คุณสามารถสร้างกลุ่มก๊วนของคุณเองได้ และที่ Ning ก็เช่นกัน คุณมีระบบสร้างกลุ่มของคุณเอง ที่เปิดให้คุณฝัง หรือ embed code ภาพต่างๆ เข้าไปในกลุ่มได้ด้วย ทั้งหมดนี้เปิดให้สมาชิกของคุณสร้างกลุ่มย่อยขึ้นมาได้เอง และให้อำนาจกับสมาชิกในการเป็นผู้นำในกลุ่มย่อยๆ ของเขาเองได้

12. Blog สำหรับสมาชิกทุกคน
สมาชิกใน Social Network ทุกคนของคุณไม่ได้แค่เข้ามาคุยๆ แล้วออกไปเฉยๆ แต่จะเข้ามาแสดงความคิดเห็นในรูปแบบของ Blog ได้ด้วยนะครับ โดยคุณเป็นคนกำหนดได้ว่าจะสร้างแถบเมนู Blog ขึ้นมาให้คนมาคลิกอ่านดูกันเยอะๆ หรือแค่ปรากฏอยู่ในหน้าโปรไฟล์ของสมาชิกก็ได้ แถมเอาไปโปรโมทต่อใน Facebook ได้ด้วย

13. มี Events Calendar ของคุณเอง
คุณสามารถนัดมีตติ้งกับสมาชิกใน Social Network ของคุณเองได้ เช่นจัดแข่งขันกีฬาขึ้นมา ก็จัดทำลิสต์ขึ้นมาได้ว่าใครจะมามั่ง มีระบบออกบัตรเชิญ ใคร Confirm ว่าจะมาบ้าง เปิดให้สมาชิกทุกคนได้เห็นหมด

– – – – – – – –
เกี่ยวกับผู้เขียน จักรพงษ์ คงมาลัย อดีตคนข่าวจาก manager.co.th และเว็บนิตยสารในเครือผู้จัดการอย่าง marsmag.net ที่ผันตัวเองเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตด้วยการสร้างเว็บไซต์คนไทยในต่างแดนทั้ง ในออสเตรเลียและสิงคโปร์ เคยร่วมพัฒนาสมุดหน้าเหลืองออนไลน์ กับบริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย และเป็นอดีตรองเลขาธิการสมาคม ผู้ดูแลเว็บไทย ปัจจุบัน จักรพงษ์กำลังสนุกกับการร่วมงานกับบริษัทอินเทอร์เน็ตชั้นนำของโลกอย่าง Yahoo! ในตำแหน่ง Community Manager คุณสามารถติดต่อกับเขาได้ทาง jakrapong.com หรือ jakrapong [at] ymail.com