Future of Thailand

ขอโทษทีนะครับ ผมหายไปเกือบ ๆ สองสัปดาห์เลย ที่จริงเขียนและแปลบทความเอาไว้หลายเรื่อง แต่ยังไม่ค่อยพอใจเลยไม่ได้อัพโหลดขึ้นให้อ่านกัน วันนี้เลยขอหยิบเอาบทความของคนอื่นที่คิดว่าดี มาฝากกันครับ นั่นก็คือเรื่องอนาคตของประเทศไทยเราในมุมมองของอัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ เจ้าของทฤษฎีคลื่นลูกที่สาม ที่นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ มักจะใช้อ้างอิงบ่อย ๆ

อัลวินบอกว่า เขาคิดว่าสำหรับประเทศไทยกว่าจะเข้าถึงยุคสารสนเทศอย่างแท้จริงก็อีกสัก 20-30 ปี จะเท็จจริงแค่ไหน คงไม่มีใครพิสูจน์ได้ นอกจากให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ที่ทำได้แน่ ๆ คือ wait & see ลองอ่านดูก่อน แล้วคิดตาม และเลือกที่จะเชื่อ หรือไม่เชื่อ หรือปรับปรุงองค์ความรู้นี้ให้เข้ากับสไตล์ไทย ๆ ของเราครับ
– – – – – –

อนาคตประเทศไทย ในมุมมอง “อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์” เจ้าพ่อ “คลื่นลูกที่สาม”
รายงาน มติชนรายวันวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๙๕๘๐ หน้า ๒
หมายเหตุ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการสัมมนาวิสัยทัศน์ประเทศไทย “The Future of Thailand หรืออนาคตประเทศไทย” ของบริษัท สื่อดี จำกัด โดยนายอัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ เจ้าของผลงานเขียน เช่น คลื่นลูกที่สาม(The Third Wave) อำนาจใหม่(Power Shift) และเป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า Globalization ได้บรรยายสดผ่านดาวเทียมให้ชม …อนึ่ง การสัมมนาดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน จากเดิมที่เชิญนายปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ “กูรู” ด้านการบริหารจัดการ มาเป็นผู้บรรยาย แต่นายดรักเกอร์เกิดล้มป่วยกะทันหัน

หัวข้อที่ผมจะพูดถึงต่อไปนี้ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อธุรกิจ วิถีชีวิต และสังคมของเรา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะในปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสร้างความซับซ้อนสับสน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ส่งผลให้วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยแท้ นับตั้งแต่เริ่มมีการปฏิวัติเทคโนโลยีข้อมูลและสารสนเทศ ซึ่งผมเรียกว่าเป็นคลื่นลูกที่ ๓ นั้น จะเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มาก แม้จะเริ่มต้นเมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว แต่ผลกระทบยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่เราควรตระหนักก็คือ ความเร็วที่เพิ่มขึ้นและรูปแบบก็มีพลวัต มันมิใช่ภาพในแนวราบที่จะพยากรณ์อนาคตได้ง่ายๆ อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความผกผันอยู่ตลอดเวลา นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ว่า ทำไมเราจึงต้องเตรียมรับมือกับมันอย่างท้าทาย

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีทำให้หลายประเทศเกิดจลาจล ทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา โรคติดต่อ สิ่งสำคัญที่เราต้องยอมรับคือ การกระจายตัวของเทคโนโลยีไปในประเทศโลกที่สามและเอเชีย เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา ไม่ว่าในจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ไทย และมาเลเซีย ควรเตรียมตัวรับมือ แต่ก็พบว่าองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นยังไม่ทันการพัฒนาของเทคโนโลยี จนถึงปัจจุบัน การศึกษาก็ยังเป็นธุรกิจที่ต้องปรับตัวมากจากการพัฒนาของเทคโนโลยี
ในด้านธุรกิจ เทคโนโลยีใหม่ๆ ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบการผลิตใหม่ ทำให้รูปแบบวิถีชีวิตของคนในสังคมสับสนยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น ผู้บริหารองค์กรต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน ต้องสร้าง “เครือข่าย” เพื่อช่วยให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างคล่องตัว และตัดสินใจได้รวดเร็วเท่าทันการเปลี่ยนแปลง

Resyncronization อาจเป็นเรื่องยากต่อการทำความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการผสมระหว่างหน่วยงานเล็กๆ แต่ละหน่วย ผสานตลาดเล็กๆ แต่ละตลาดเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม การผสานความร่วมมือดังกล่าว ยังคงเป็นรูปแบบที่ต้องศึกษากันต่อไป

รูปแบบการผลิตในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเป็นคลื่นลูกที่ ๒ นั้น ก่อให้เกิดการพลิกกลับของกระบวนการผลิตที่เรียกว่า Massification หรือการผลิตสินค้าจำนวนมาก เพื่อประหยัดต้นทุน แต่ปัจจุบันต้องเปลี่ยนมาเป็น Demassification หรือการผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของตลาดเฉพาะกลุ่มเล็กๆ เช่น การผลิตรถยนต์ฟอร์ดในยุคก่อน ถือเป็นระบบ Mass ที่ผลิตรถสีเดียวแบบเดียวจำนวนมากๆ แต่ปัจจุบันความต้องการหลากหลายขึ้น Demass ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ทำให้เกิดรถในแบบและสีสันต่างๆ ตอบสนองตลาดที่แยกย่อยเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย

ในอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน อเมริกายุคเก่ามีสถานีโทรทัศน์ให้เลือกชมเพียง ๓ สถานีใหญ่ แต่ปัจจุบันมีกว่า ๑๐๐ ช่อง เพื่อเป็นทางเลือกมากขึ้น ธุรกิจอื่นๆ ก็ต้องหันมาทำความเข้าใจวิธีการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตลาดเฉพาะกลุ่มเล็ก ซึ่งหากธุรกิจสามารถครองตลาดกลุ่มเล็กๆ ได้หลายกลุ่ม ก็เท่ากับได้ครองตลาดเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ในสังคมอเมริกัน เราพอมองเห็นผลกระทบที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนจากยุคคลื่นลูกที่ ๑ สังคมส่วนใหญ่เป็นสังคมชนบท ครอบครัวใหญ่ อาศัยรวมกัน เพื่อช่วยกันทำการเกษตร เมื่อมาสู่คลื่นลูกที่ ๒ ระบบอุตสาหกรรมทำให้ขนาดครอบครัวเล็กลง แต่ละคนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ การแข่งขันทางธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อเข้าสู่คลื่นลูกที่ ๓ ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก หน่วยย่อยทางธุรกิจหรือสังคมก็จะมีบทบาทชัดเจนมากขึ้นด้วย
เช่นเดียวกับการแบ่งงานกันทำในหน่วยงานของภาครัฐ กระทรวง ทบวง กรม ที่ต่างมีหน้าที่รับผิดชอบของตนเอง แต่โยงใยกันเป็นเครือข่าย การปรับโครงสร้างธุรกิจในอนาคต ก็จะออกมาในรูปของเครือข่าย(network) มากขึ้นเช่นกัน

การมองภาพความเปลี่ยนแปลง อย่าไปมองที่จุดใดจุดหนึ่ง แต่ต้องดูภาพรวมทั้งการเงิน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม อาจรวมถึงศาสตร์และวิถีชีวิตด้วย เพราะการตัดสินใจของผู้บริหารต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่รอบด้าน เพราะทุกอย่างเชื่อมต่อกันหมด ประเทศหนึ่งเกิดโรคติดต่อร้ายแรง ประเทศใกล้เคียงก็พลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย

แม้การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นรวดเร็ว และการปรับตัวก็ต้องเร็วตาม แต่ก็ต้องปรับอย่างมีกลยุทธ์ ต้องรู้ว่าปรับเปลี่ยนเพื่อใคร เป้าหมายใด เหมือนการขึ้นเครื่องบินที่คุณต้องรู้จักเลือกสายการบิน และรู้ที่หมายที่จะไป

เทคโนโลยีนั้นพัฒนาไปบนฐานความรู้เป็นสำคัญ ประเทศไทยเองก็ต้องตอบรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเท่าทันด้วย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝน เรียนรู้ เพราะมิฉะนั้นก็จะไม่สามารถติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

ในภูมิภาคเอเชียมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน บางครั้งอาจเกิดการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรม เช่น คริสต์กับอิสลาม แต่ในความหมายของผม มิได้ชี้ไปที่ศาสนา หากแต่เป็นรูปแบบวิถีชีวิตมากกว่า การปะทะกันเหล่านี้เกิดจากการเปลี่ยนวิถีชีวิตที่มีเทคโนโลยีเป็นพื้นฐาน

สำหรับประเทศไทยกล่าวได้ว่า เป็นประเทศที่ผสมผสานระหว่างคลื่นลูกที่ ๑ คลื่นลูกที่ ๒ และคลื่นลูกที่ ๓ ไปพร้อมๆ กัน เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่ยังทำการเกษตร มีสภาพชีวิตเป็นครอบครัวใหญ่ รายได้ไม่มาก และทำงานตามฤดูกาล ในขณะเดียวกัน ไทยก็มีอุตสาหกรรมที่กำลังพัฒนาด้วยเทคโนโลยี เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ การผลิตรถยนต์ และอื่นๆ ส่วนการพัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี ก็มีการศึกษาในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

ประเทศในโลกตะวันตกแตกต่างจากโลกตะวันออก เพราะมีช่องว่างทางด้านเทคโนโลยี แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คลื่นลูกที่ ๓ กำลังเกี่ยวข้องกับเราทุกคน
มีคนโต้แย้งว่า ความคิดใหม่และเทคโนโลยีใหม่ไม่ได้ช่วยขจัดปัญหาความยากจน ซึ่งผมไม่เห็นด้วย เทคโนโลยีอาจไม่ได้ช่วยให้คนจนเข้าถึงได้ เพราะเหมาะกับคนบางกลุ่ม แต่ก็เป็นเครื่องมือช่วยคลี่คลายปัญหาความยากจนได้ เช่น การนำเครื่องจักรไอน้ำมาใช้ในการพัฒนาเกษตรกรรมในโลกตะวันตก ก็สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นเกษตรอุตสาหกรรม สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น เกิดจากแปรรูปสินค้าเกษตร มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต สุดท้ายก็ส่งผลให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ปัญหาความยากจนก็บรรเทาลง แม้ว่าจะไม่หมดไปก็ตาม

คุณจะพบว่า ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ชิปผลิตออกมาจำนวนหลายแสนล้านชิ้นทุกวันบนโลก และเพิ่มมากขึ้น เร็วขึ้นทุกปี จากชิปธรรมดา พัฒนามาเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ก้าวมาอีกขั้นเป็นดิจิตอล ใช้งานง่ายด้วยสวิตช์ปุ่มเปิดปิด ในประเทศไทย การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมีประมาณ ๔.๘ ล้านคน อาจไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร แต่ถือเป็นอัตราสูงเมื่อเทียบกับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประเทศเพื่อนบ้าน และไทยยังมีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากยิ่งขึ้น
ประเด็นสำคัญคือ คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตไม่มีทางหายไป นับวันแต่จะเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดการวิวัฒนาการที่ยิ่งใหญ่
ในคืนที่ยานอวกาศร่อนลงเหนือดาวอังคาร มันทำให้เรารู้สึกได้ว่าเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุดนิ่ง และทำให้เราค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรค วัคซีนตัวใหม่ เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และนาโนเทคโนโลยี เครื่องมือแพทย์ที่มีขนาดเล็กลงเพื่อสามารถช่วยชีวิตมนุษย์ และรักษาโรคบางอย่างที่เดิมไม่สามารถรักษาได้

แล้วเราก็จะพบว่า Demassification ก็ไม่ได้หายไปไหน เรายังคงพัฒนาเทคโนโลยีต่อไป เพื่อตอบสนองความต้องที่ละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้น
นี่คือจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของเรา เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีนั้นไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกระดับชั้น แต่ผลของมันต่างหากที่เข้าถึงคนทุกระดับชั้นได้ ตัวอย่าง ในช่วงแรกของการปฏิวัติอุตสาหกรรม นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า เครื่องจักรไอน้ำไม่สามารถเป็นเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจได้ และถัดมาไม่นานมีการพยากรณ์ว่าจะเกิดการขาดแคลนอาหารในอินเดีย เพราะไม่สามารถผลิตอาหารให้เพียงพอกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ แต่ความจริงอินเดียสามารถผลิตผลผลิตได้มากถึง ๓ เท่าจากเดิม จนส่งออกได้ นี่คือผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้

ในขณะนี้ไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนที่ผสมผสานของคลื่นทั้ง ๓ ลูก และกำลังรอเวลาเข้าสู่คลื่นลูกที่สามอย่างเต็มตัว ประเทศโลกที่สามเตรียมจะเข้าสู่คลื่นลูกที่สามประมาณปี ๒๐๓๐-๒๐๕๐ ไทยยังพึ่งพาจีนในบางส่วน แต่ในอีก ๔๐ ปีข้างหน้าไทยอาจเปลี่ยนแปลงตัวเองเข้าสู่รูปแบบของคลื่นลูกที่สาม

อินเดียคล้ายคลึงกับไทย เพราะมีการพัฒนาที่ผสมผสานกันของคลื่นทั้ง ๓ ลูก โดยเฉพาะการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ที่มีมากจนส่งออกได้ เพราะต่างประเทศเข้ามาลงทุน และถือเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้อินเดียกลายเป็นตลาดที่น่าสนใจ อีกทั้งอินเดียก็มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งสามารถพัฒนาไปอย่างรวดเร็วด้วย
แม้แต่จีนเองก็มีท่าทีสนใจต่ออุตสาหกรรมในคลื่นลูกที่สามมากพอสมควร หนังสือที่ผมเขียนหลายเล่มขายดีในจีน แม้แต่ เติ้ง เสี่ยว ผิง ก็ใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม จีนกำลังมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพมากขึ้น จีนถือเป็นตลาดใหญ่ เมื่อเทียบกับไทยแล้วอาจพัฒนาได้ช้ากว่า ไทยจึงได้เปรียบในเรื่องขนาดตลาด และการพัฒนาความรู้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี และน่าจะถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเข้าไปเป็นผู้ผลิตเพื่อป้อนตลาดจีนด้วย

ในภาคเกษตรกรรมเองก็แบ่งออกเป็นคลื่นลูกที่หนึ่งและสองเช่นเดียวกัน และสามารถพัฒนาต่อยอดออกไปเป็นเกษตรกรรมในคลื่นลูกที่สาม ซึ่งน่าจะเป็นอนาคตสำหรับประเทศไทย โดยยังต้องศึกษาต่อไปว่าจะพัฒนาออกมาเป็นรูปแบบใด เช่น แม้แต่เทคโนโลยีดาวเทียมก็สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร โดยใช้บอกพิกัดลักษณะทางภูมิศาสตร์ และช่วยพัฒนาระบบการเกษตรยุคใหม่ที่ได้ผล

ประเทศไทยจึงมีโอกาสเป็นผู้นำในการพัฒนาการเกษตรเข้าสู่คลื่นลูกที่สาม เพราะในเอเชียยังไม่มีประเทศใดที่เน้นและให้ความสำคัญในเรื่องนี้เหมือนไทย
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนอุตสาหกรรมการเกษตรจากคลื่นลูกที่หนึ่ง มาเป็นลูกที่สอง และคลื่นลูกที่สาม แม้จะมีปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาชะงักงัน เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ แต่เปลี่ยนแปลงก็ยังดำเนินต่อไป คนรุ่นใหม่จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรม และอนาคตสังคมเศรษฐกิจในคลื่นลูกที่สามต่อไป
เราต้องเตรียมตัวรับความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดจากการพัฒนาและเติบโตของเทคโนโลยี สิ่งที่เราต้องเผชิญ มิใช่เพียงโฟกัสอยู่ที่เพียงธุรกิจของเรา แต่หมายรวมถึงการติดต่อสัมพันธ์กับองค์กรทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งรัฐบาล องค์กรธุรกิจ และสถาบันการศึกษา กำลังเผชิญกับความท้าทาย และเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วอย่างรวดเร็วในยุคของการพัฒนาคลื่นลูกที่สาม

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: