หนังสือ The Last Lecture + Chasing Daylight (ไล่ล่าแสงตะวัน) + นั่งคุยกับความตาย
ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่งมีโอกาสอ่านหนังสือฝรั่งชื่อดังที่หลายๆ คนคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว นั่นคือ The Last Lecture (แปลเป็นไทยโดยคุณหนูดี วนิษา เรซ) ซึ่งเป็นหนังสือที่มีที่มาจากการบรรยายครั้งสุดท้ายในชีวิตของศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ แรนดี้ เพาซ์ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยคาเนกีเมลลอน ผู้กำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนในระยะสุดท้าย ผมคิดว่ามีบล็อกเกอร์หลายคนเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ไปแล้วว่าดีอย่างไร ผมจะไม่เล่าอีก สนใจไปอ่านกันได้เลยครับ หรือถ้าอยากจะดูการบรรยายของเขาครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยคาเนกี เมลลอน และอีกครั้งที่รายการโอปรา วินฟรี (มีซับไทยให้อ่านด้วยนะครับ)
ขณะเดียวกัน บังเอิญว่านึกถึงหนังสือเล่มนึงที่เคยอ่านได้ นั่นคือ Chasing Daylight หรือ ไล่ล่าแสงตะวัน (แปลเป็นไทย โดยคุณโตมร ศุขปรีชา บก. นิตยสาร GM) ซึ่งเป็นเรื่องอดีตผู้บริหารบริษัท KPMG ยูจีน โอเคลลี่ ผู้เขียนได้เขียนหนังสือเล่มนี้ก่อนตายด้วยโรคมะเร็งสมองขั้นสุดท้าย ซึ่งคุณ Gratunn บล็อกเกอร์คนนึงได้เคยเขียนไว้ อย่างละเอียดดีแล้ว ว่างๆ อยากให้ลองหาอ่านกันดูนะครับ
ที่จริงเรื่องที่แรนดี้และยูจีนเขียนไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมืองไทยก็มีหนังสือของคุณเชิด ทรงศรี คือ “นั่งคุยกับความตาย” เพียงแต่ผมยังไม่เคยอ่านหนังสือของคุณเชิด แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ นักเขียนแต่ละคนมีวิธีทำใจก่อนตายได้อย่างไร เพราะคนป่วยหนักระยะสุดท้ายถ้าไม่เศร้า ก็ไม่ยอมรับความจริง อ่านแล้วก็ฉุกคิดนะครับว่าเราควรจะเริ่มคิดกันได้หรือยังว่าถ้าเราจะต้องตาย ไปภายในระยะเวลาสั้นๆ นี้จะทำอย่างไร
ผมว่านักเขียนทั้งสามคนนี้มีอะไรคล้ายๆ กันครับสองสามอย่าง 1. ผู้เขียนหนังสือทั้งสามคนเป็นมะเร็งขั้นสุดท้ายทุกคน และกำลังจะตายในเวลาไม่นาน 2. ผู้เขียนทั้งสามคนยังมีอะไรน่าสนใจในชีวิตอีกเยอะ มีอะไรต้องทำอีกมาก แรนดี้อาจจะสอนที่คาเนกีเมลลอนได้อีกยี่สิบปี ยูจีนอาจจะมาเปิดสาขาในเอเชีย คุณเชิดอาจจะทำหนังเรื่องใหม่อีก และ 3. ที่เหมือนกันผู้เขียนทั้งสามคนระบุไว้ว่าเราจะสามารถทำใจให้ยอมรับความตายได้อย่างไร และสามารถจัดการกับเวลาที่เหลืออยู่อย่างไรอย่างมีสติ
ผมว่าจุดร่วมในข้อสามนี่เป็นหัวใจสำคัญที่เราน่าจะเอามาตั้งคำถามกับตัวเองกันให้มาก และผมเคยลองทำสำรวจอย่างไม่เป็นทางการมาแล้วใน Yahoo! รู้รอบ ลองอ่านคำถามของตูน บอดี้สแลม และคำถามของวงสล็อตแมชชีน แล้วพบว่าพวกเราส่วนใหญ่ยังไม่ได้เตรียมการอะไรสำหรับเรื่องนี้เลย เราคิดกันแค่ว่าถ้ามีเวลาน้อยนิดก็จะอยู่กับครอบครัวให้มากที่สุดและขอให้ตายอย่างสบาย
แต่เรายังไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเองกันเท่าไหร่ว่า เราคิดวิธีเตรียมตัวตายกันแล้วหรือย้ง? ไม่ใช่แค่คิดว่าก่อนตายจะทำใจอย่างไรนะครับ แต่ต้องลงรายละเอียดเลยว่าจะจัดการเรื่องการเงินอย่างไร มีประกันชีวิตหรือยัง คุณจะจากไปแล้วคนข้างหลังคุณล่ะจะลำบากไหม ผมว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องอัปมงคลอะไร แต่คนเราเกิดมาไม่กี่สิบปีก็ตายแล้ว จะยึดติดในลาภยศสรรเสริฐกันไปทำไมมากมาย
ก็ไม่เห็นหรือไงตอนนี้บ้านเมืองวุ่นวายกันใหญ่เพราะไม่ได้ตั้งคำถามว่าจะเตรียมตัวตายกันอย่างไร มัวแต่ตั้งคำถามว่าใครจะชนะใครจะแพ้ ถ้าคิดแบบนี้ก็เกมกันพอดี คนที่แพ้มีแต่ประเทศชาติ น่าเสียดายที่คนเหล่านี้มองไม่เห็นสิ่งสำคัญที่นักเขียนทั้งสามคนเขียนไว้ในหนังสือ นั่นก็คือ “การปล่อยวาง”
ไม่งั้นอะไรๆ ก็คงไม่วุ่นซะขนาดนี้
ทำให้ผมต้องหา The Last Lecture มาอ่านจนได้ 🙂
หลังจากที่ผมอ่านจบ อีก 1 คนที่ผมนึกถึงคือ Steve Jobs ครับ
ดีใจที่ทำให้มีคนอ่านหนังสือดีๆ เล่มนี้เพิ่มนะครับ 🙂
กะจะซื้อหนังสือ The Last Lecture หลายครั้งแล้วครับ
แต่เจอเป็นเล่มสุดท้าย ซื้อเล่มอื่นหมดก่อนเลยว่างเล่มนี้ทุกที
เมื่อวานก็จับๆ อยู่ แต่ก็อาการเดี่ยวกัน