มาพัฒนา Social Media Skill Set กัน (ตอน 1 ว่าด้วยความสำคัญ)

ภาพจาก flickr โดย oversocialized

สมัยเด็กๆ ใครเคยฝันอยากเป็นดีเจบ้างครับ?

ผมเป็นคนนึงที่ฝันอย่างนั้น สาเหตุเพราะภาพลักษณ์ภายนอกที่สวยงาม ได้อยู่กับเสียงเพลง ฮัมเพลงไปเลือกแผ่นไป เปิดโฆษณาไป มันคงไม่ใช่เรื่องผิดหากเด็กคนนึงจะชอบอะไรแบบนี้ แล้วพยายามที่จะไขว่คว้าเพื่อจะเป็นแบบนั้นบ้าง อย่างผมนี่บ้าเข้าขั้น ถึงกับเดินไปบอกดีเจดังๆ อย่างวินิจ หัทยา ถึงสถานีว่าขอทำงานไม่เอาเงินเลย ขลุกอยู่กับสถานีวิทยุได้ตั้ง 6 ปี ทำอะไรสุดทิ่มลิ่มประตูมาก

วัยรุ่นเป็นวัยที่มันมีพลัง ยุคนั้นเลยไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราจะเห็นเด็กมัธยมแห่ไปสมัครสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์กันเยอะแยะ (ช่วงประมาณปี 2530-2540) ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เรียนจบมาความรู้ความเข้าใจเรื่อง Media ของผมก็ยังเป็นแบบเดิม คือ สื่อมี 5 อย่าง โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และภาพยนตร์

วันนั้นจริงๆ อินเทอร์เน็ตก็เริ่มก่อร่างสร้างตัวแล้ว แต่มันยังไม่มีการเจริญเติบโตอย่างทุกวันนี้ คนที่ทำงานในสายอินเทอร์เน็ตยังมีไม่มาก แต่องค์กรต่างๆ ก็เริ่มให้ความสนใจ ให้ความสำคัญกับอินเทอร์เน็ต อย่างองค์กรสื่อใหญ่ๆ ก็สร้างเว็บไซต์สำหรับคอมพิวเตอร์ กระจายข่าวทาง SMS เพื่อเพิ่มรายได้ นั่นคือความเคลื่อนไหวเดิม

แล้วตอนนี้ล่ะ?

ตอนนี้สื่อเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจริงๆ น้องๆ รุ่นใหม่โชคดีมากครับที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่สามารถทำให้ตัวเองสามารถสร้างสื่อขึ้นมาได้ ไม่เหมือนรุ่นของผม หากผมฝันจะเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ คุณต้องมีเงินมหาศาล ต้องมีเส้นสายมากมาย

แต่สมัยนี้ไม่ต้องเลย เวทีการประกวดอะไรก็ไม่ต้อง ขอเพียงแต่คุณรู้ว่าคุณต้องการนำเสนออะไร นำเสนอเป็น เข้าใจเครื่องมือในการนำเสนอบ้าง คนก็จะหันมาติดตามคุณเอง ตัวอย่างเช่น คุณเป้ เป็น Blogger ที่เขียนถึงโทรศัพท์มือถือได้ดีมาก หรือมีเว็บไซต์ Community ของคนรักมือถือยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง มีคนติดตามอ่านเป็นเรือนหมื่น มี Follower บนทวิตเตอร์หลายพันคน เวลาพูดอะไรทีนึงมีคนอีกหลายร้อยคนพร้อมจะ Retweet สิ่งที่คุณพูดให้กระจายออกไปแพร่หลายมากกว่าเดิม เวลาไปตามงานเปิดตัวสินค้า ก็จะต้องไปลงชื่อในใบลงทะเบียนว่าเป็น “สื่อมวลชน” นะครับ

คนยุคนี้สามารถตั้งตัวเป็นสื่อมวลชนได้ด้วยเทคโนโลยีทางอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องมีทุนเยอะ อะไรๆ มันเลยง่ายกว่าสมัยก่อนมาก คนทุกคนมี Media เป็นของตัวเองได้ แต่ในเวลาเดียวกัน คนยุคนี้ก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะการนำเสนอในแบบมืออาชีพให้มากยิ่งขึ้น ไม่อย่างนั้นเราก็จะมีแต่ข้อความโฆษณาออนไลน์ว่อนทั่วเน็ต

ในตอนนี้ ผมเพียงแต่อยากจะบอกว่า การเป็นสื่อมวลชนยุคใหม่มันมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเปิดทางให้เราเป็นสื่อมวลชนแขนงใหม่ได้เร็วทันใจ แถมต้นทุนต่ำแบบนี้ มันทำให้เรามีโอกาสที่จะแจ้งเกิดได้ง่าย แต่ข้อเสียคือ คนทั่วไปไม่ได้ถูกฝึกหัดมาให้มีความรู้ความเข้าใจด้านสื่อแบบที่สื่อรุ่นเก่ามี (และนั่นคือข้อดีที่สื่อเดิมมักจะอ้างถึงว่าตัวเองดีกว่าสื่อใหม่อย่างไร) ทักษะการนำเสนอ ความประณีตในชิ้นงาน ความเข้าใจในการเผยแพร่ให้คนจำนวนมากสนใจ ที่ผมขอตั้งชื่อเล่นๆ ว่า Social Media Skill

ตอนหน้ามาว่ากันต่อด้วยวิธีการพัฒนาเจ้า Social Media Skill แบบลงรายละเอียดครับ (ตอนที่ 2 ผมจะเขียนลงนิตยสาร Positioning เดือนกันยายนนะครับ)

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: