วันนี้เป็นวันแม่แห่งชาติตามขนบประเพณีของบ้านเรา แต่ก็กลับกลายเป็นวันที่ผมสะท้อนใจในความรู้สึกมากที่สุด เพราะมันเป็น “วันแม่ปีแรก” ที่แม่ไม่ได้อยู่ในอ้อมกอดของเราอีกต่อไป เช้านี้ผมได้แต่เปิดเพลงที่แม่ชอบฟังวนเวียนในความรู้สึกอยู่อย่างนั้น จำได้ว่าเพลงนี้คือเพลงที่ต้องเปิดให้คุณแม่ฟังทุกครั้งที่ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลในช่วงสุดท้ายของชีวิต นั่นคือเพลง The Tennessee Waltz และ Changing Partners ของ Patti Page
ด้วยความเป็นคนขี้สงสัย ผมชอบถามแม่ว่าทำไมชอบ Patti Page นัก แกไม่ได้ตอบอะไรมาก เลยลองค้นหาประวัติดู
Patti Page มีชื่อจริงว่า Clara Ann Fowler (พฤศจิกายน 1927 – 1 มกราคม 2013) เธอเป็นนักร้องเพลงป๊อปชาวอเมริกันยุคดั้งเดิม (อารมณ์ลูกกรุงนั่นเอง) ใครที่ชอบเพลงฝรั่งยุค 50 จะต้องรู้จักเธอแน่นอน เพราะผลงานของ Page ขายได้มากถึง 100 ล้านชุดในช่วงตลอด 60 ปีของการร้องเพลงของเธอ
Page ได้เซ็นสัญญากับ Mercury Records ในปี 1947 และกลายเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จทันที ด้วยเพลง “Confess” ในปี 1950 เธอปล่อยซิงเกิล “With My Eyes Wide Open, I’m Dreaming” ที่ขายได้ล้านชุดในสหรัฐ และมีการโปรโมทต่อเนื่องจนกระทั่งขายซิงเกิ้ลนี้ได้อีกถึง 14 ล้านชุด เพราะมีการโปรโมทยาวนานถึง 15 ปี
จากนั้น Page ก็ปล่อยเพลง “Tennessee Waltz” (ที่อยู่ในวิดีโอ) ก็กลายเป็นเพลงที่ดังที่สุดของเธอ และเป็นเพลงขึ้นหิ้งแห่งศตวรรษที่ 20 จนวันนี้มันเลยกลายเป็นเพลงประจำมลรัฐ Tennessee นี่ยังไม่รวมเพลงอื่นๆ เช่น “All My Love (Bolero)“, “I Went to Your Wedding” และเพลงน่ารักๆ แบบ (How Much Is That) Doggie in the Window”.
นอกจากเป็นศิลปินที่ขายดีแล้ว เธอเป็นศิลปินที่มีแนวเพลงต่างจากคนอื่นตรงที่เธอมักจะผสมเอาสไตล์เพลง คันทรีเข้ามากับเพลงป๊อปเป็นประจำ ทำให้ได้รับความนิยมไม่เฉพาะในเมืองใหญ่แต่ทั่วสหรัฐฯ เพลงของเธอเลยมักจะติด Billboard Chart ประจำ รวมไปถึงพวก Billboard Country Chart ด้วย และพอแก่ตัวลงเธอก็เริ่มร้องเพลงคันทรีมากขึ้น แต่ก็ยังคงครองใจแฟนเพลงร่วม 60 ปีตลอดการร้องเพลง
คนยุคเราๆ อาจจะไม่ค่อยได้ยินเพลงของ Page เยอะนักเพราะพอ 60-70 เพลงร็อกเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นเพลงป๊อปก็เลยค่อยๆ เลือนหายไป แต่ Page ก็ยังคงมีเพลงใหม่ๆ ออกมาอย่างสม่ำเสมอ อย่าง “Old Cape Cod”, “Allegheny Moon”, “A Poor Man’s Roses (Or a Rich Man’s Gold)” และ “Hush, Hush, Sweet Charlotte”.
จากผลงานทั้งหมดนี้ทำให้ Page ได้รับรางวัล Lifetime Achievement Grammy Award ในปี 2013 ตอนที่เธอเสียชีวิตลง ซึ่งจะว่าไปก็ก่อนหน้าคุณแม่ผมประมาณปีครึ่งเมื่ออายุ 85 ปี
Patti Page กับแม่ผมดูเหมือนมีชีวิตที่ไม่เหมือนกันสักทีเดียว แต่มีบางอย่างที่คล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ
Patti Page เกิดมาในครอบครัวใหญ่ที่ยากจน แต่ตอนหลังชีวิตก็ดีขึ้น คุณแม่ผมก็เช่นกัน แม่เกิดในครอบครัวนายทหารหนุ่ม ที่ยังตั้งตัวได้ไม่ดีนัก คุณยายเล่าให้ฟังว่าต้องอุ้มคุณแม่ผมหนีระเบิดของทหารอเมริกันที่ทิ้งระเบิดเข้ามาในกรุงเทพฯ ครอบครัวแม่ต้องต่อสู้กันแต่เด็ก
พอโตขึ้นมา Page ก็เริ่มร้องเพลง แม่ผมพบว่าตัวเองชื่นชอบการฝีมือ และงานศิลปะ เลยเข้าเรียนด้านการเรือนที่สวนดุสิต ผมรู้สว่าทั้งแม่ผมและ Page โชคดีอยู่อย่างหนึ่งคือ ทั้งคู่ได้ทำสิ่งที่รัก
สิ่งที่รักของ Page คือการร้องเพลง ส่วนของคุณแม่ผมนั่นคือการสอนผู้คนให้รู้จักศิลปะการฝีมือ และดูแม่ยิ้มมีความสุขทุกครั้งเมื่อมีลูกศิษย์ที่โรงเรียนมาเยี่ยมในช่วงสุดท้ายของชีวิต
สิ่งที่ผมคิดได้ขึ้นมาในวันที่ “เธอ” ไม่อยู่ก็คือ บางทีชีวิตคนเราอาจไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการพยายามค้นให้เจอว่าความสุขของคนเราอยู่ที่ตรงไหน แล้วก็ทำมันให้สุดหัวใจตราบเท่าที่ลมหายใจยังมีอยู่
ขอบคุณภาพ: RoadsidePictures บน Flickr ภายใต้ Creative Commons