
First publish on www.manager.co.th 22 February 2005
Revise on 5 May 2006
Hello, Jakrapong. We have recommendations for you. (If you’re not Jakrapong, click here.)
ใครที่ชอบแวะไปซื้อข้าวซื้อของในเว็บไซต์ Amazon.com คงจะคุ้นเคยกับประโยคทักทายผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ข้างบนดีนะครับ เมื่อหลายตอนที่ผ่านมาผมเคยเขียนถึงเจฟฟ์ เบโซส์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Amazon.com ไปแล้วหนหนึ่ง เกี่ยวกับประสบการณ์และความสำเร็จที่เกิดมาจากบุคลิกภาพเชิงบวกของเขา
วันนี้เรามาติดตามกันต่อว่า จากวันนั้นถึงวันนี้เขาเดินหน้าไปถึงไหนแล้วเมื่อเจฟฟ์เปิดตัวเว็บไซต์ Amazon.com เมื่อสิบปีที่แล้ว Amazon.com ซึ่งเป็น Virtual Bookstore สามารถเสนอขายหนังสือในเว็บไซต์ได้มากมายมหาศาล ซึ่งมากเกินกว่าที่ร้านหนังสือจริงจะทำได้ ในช่วงนั้นชื่อเสียงและราคาหุ้นของ Amazon.com จึงพุ่งแรงอย่างฉุดไม่อยู่ แต่แล้วเมื่อธุรกิจดอทคอมพังพาบลงอย่างสิ้นท่า สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ เขาในฐานะหัวเรือใหญ่ของธุรกิจดอทคอมจะต้องดำเนินธุรกิจต่อไปให้อยู่รอดให้ได้
วันเวลาผ่านไป… ธุรกิจของเขาสามารถขายสินค้าไม้จิ้มฟันยันเรือรบได้มากกว่า 20 ล้านรายการ และทำรายได้มากถึง 6 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ แม้จะยังไม่มีรายงานมาว่าเขาได้กำไรหรือยัง แต่คำพูดของเบโซส์ยังคงเป็นสิ่งที่น่าสนใจอยู่เสมอ
ผมสรุปจากบทสัมภาษณ์ของเขาจากสื่อหลาย ๆ แห่ง และบวกเข้าไปกับแนวทางการซื้อขายออนไลน์มาเป็นข้อ ๆ เผื่อว่าจะมีประโยชน์กับคุณผู้อ่านนะครับ
1. เรารู้ว่าอะไรที่อินเทอร์เน็ตทำได้ อะไรที่คู่แข่งทำไม่ได้
Amazon.com ยังคงใช้ความได้เปรียบในธรรมชาติของสื่อออนไลน์ในการเสนอขายสินค้าจำนวนมหาศาล (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือ) และหาทางสร้างโอกาสในการแข่งขันกับร้านหนังสือทั่วไป ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ใช้ feature “Search Inside” เหมือนกับการพลิกดูหนังสือได้ในร้านจริง (ซึ่งเจฟฟ์อ้างว่าทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 9 เปอร์เซ็นต์ของหนังสือทั้งหมด)
ทั้งยังพยายามดึงระบบบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) มาใช้ โดยให้ระบบจดจำลูกค้าเป็นรายบุคคล ว่าลูกค้ามีพฤติกรรมเลือกซื้อหนังสือแบบไหน แล้วจ้างทีมงานจัดทำบทแนะนำหนังสือขึ้นมา พร้อมกับเสนอหนังสือราคาพิเศษในหมวดเดียวกันเข้าไปเจฟฟ์เผยว่าเขาพยายามกระตุ้นเร้าความต้องการส่วนลึกของลูกค้า
เช่น เขาทำวิจัยพบว่าลูกค้าที่ค้นหาหนังสือเกี่ยวกับลัทธิเซ็น จะเป็นกลุ่มที่ชอบความเรียบง่าย และชอบที่จะจัดระเบียบชีวิต และคนกลุ่มนี้จึงต้องการที่จะรู้ว่าทำอย่างไรให้การใช้ชีวิตในที่ทำงานเป็นสิ่งเรียบง่าย ซึ่งไปตรงกับหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับการจัดโต๊ะที่ทำงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เจฟฟ์ได้หยอดเอาคำว่า “จัดโต๊ะทำงานให้เรียบร้อย” เข้าไปในคำค้นหาหนังสือ ปรากฏว่ามีลูกค้าคลิกเข้าไปอ่านและตัดสินใจซื้อจำนวนมาก
นอกจากนี้เขายังให้เหตุผลทางการตลาดเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ในโลกออฟไลน์เราจะต้องเสียค่าทำการตลาดมหาศาลสำหรับสินค้าที่ “เชื่อว่าจะขายได้” และ “คุ้มที่จะขาย” เราคงไม่ทุ่มงบการตลาดลงไปกับสินค้าที่ทำออกมาแล้วมีคนซื้อกลุ่มเล็ก ๆ หรือสินค้าที่มีตลาดเฉพาะ เพราะอาจเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า แต่ใน Amazon.com เจฟฟ์เผยว่า เขาสามารถขายสินค้าเหล่านี้ได้
1. หนังสือหายาก
2. หนังสือที่ไม่มีชื่อเสียงมากนัก
3. หนังสือที่ไม่ได้เป็นหนังสือติดอันดับขายดี
4. หนังสือที่มีชื่อเสียงในกลุ่มเฉพาะ
การขายหนังสือเหล่านี้ด้วยต้นทุนทางการตลาดที่ต่ำ ทั้งยังเป็นสิ่งที่บรรณาธิการหนังสือ และเจ้าของร้านหนังสือทั่วไปไม่สามารถทำได้ดี (เว้นเสียแต่จะอ่านหนังสือของตัวเองอย่างละเอียดทุกเล่ม) แต่อินเทอร์เน็ตสามารถทำได้ และที่แน่ ๆ มันเวิร์ค ซึ่งจะว่าไปแล้ว ลองยกตัวอย่างเล่น ๆ ว่าถ้าหากค่ายเพลงในบ้านเราอย่างแกรมมี่ อาร์เอสจะลองทำเว็บไซต์ขายสินค้าแบบ Back Catalog ดูบ้าง เพราะตัวเองก็มีสินค้าเก่าหายากอยู่มากมาย ก็ไม่น่าจะยากจนเกินไป
2. พลังของ Community ยังคงสำคัญ และต้องทำต่อไป
เจฟฟ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาให้ความสำคัญกับพลังชุมชนของลูกค้า โดยการเปิดเวทีให้ลูกค้าได้แสดงความคิดเห็นในตัวสินค้ามาโดยตลอด อย่างที่เคยทำกับฟีเจอร์ “List Mania” ที่จะมีลูกค้าซึ่งระบุว่าตัวเองมีทักษะพิเศษในด้านนั้น ๆ มาวิพากษ์วิจารณ์ว่าหนังสือเล่มนี้ดี และไม่ดีอย่างไร ทำไมถึงชอบ ทั้งยังเปิดให้ลูกค้าโหวตด้วยว่าความคิดเห็นของคนที่มาวิพากษ์วิจารณ์สินค้านั้นเป็นการเชียร์สินค้าออกอาการ “โอเวอร์” เกินไปหรือเปล่า
ทั้งยังจับกลุ่มผู้นิยมสินค้ามือสอง ในลักษณะ C2C อันเป็นลักษณะพิเศษของสินค้าออนไลน์ และตอกย้ำความสำเร็จของ feature ดั้งเดิมอย่าง “Wish List” ที่ทำหน้าที่เป็นตัวคอยเตือนให้ลูกค้าจำได้ว่าเคยอยากได้หนังสือเล่มนี้ โดยเพิ่มคุณลักษณะของ Wish List เพิ่มไปอีกว่าจะแชร์ให้คนอื่นที่เป็นเพื่อน หรือญาติพี่น้องของคุณทราบหรือไม่ว่าคุณมี Wish List แบบนี้ แน่นอนว่าบรรดาญาติ ๆ คุณคงไม่ใจจืดใจดำลืมไปว่าคุณอยากได้อะไรในช่วงเทศกาล
นี่แหละเป็นวิธีเพิ่มยอดขายในแต่ละช่วงเทศกาลได้เป็นอย่างดี
จะว่าไปแล้วเจฟฟ์ไม่ได้ทำเพียงสร้าง Community ขึ้นมา แต่เจฟฟ์กำลังเล่นอยู่กับพลังของเครือญาติ อันเป็น Community ที่เป็นสถาบันของสังคม และยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทในการสร้างเสริมความสัมพันธ์ของสถาบันครอบครัวอีกด้วย
3. คนมักจะสับสนและลังเลว่าสินค้าที่ไม่ดังจะมีคุณภาพต่ำ
เจฟฟ์ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร WIRED ฉบับเดือนมกราคม ปี 2548 ว่า “People confuse obscurity with bad service” ซึ่งจับใจความในประโยคทั้งหมดได้ว่า คนทั่วไปมักจะสับสนและลังเลว่าสินค้าที่ไม่ดังจะมีคุณภาพต่ำ และอาจกระทบการตัดสินใจซื้อสินค้า ซึ่งตรงนี้ยังรวมไปถึงสินค้าที่ obscure หรือดูคลุมเครือ
เช่น ตั้งชื่อหนังสือไม่ชัดเจน ก็จะทำให้หนังสือดูมีมูลค่าลดลงไป ในโลกอินเทอร์เน็ต เจฟฟ์เผยว่าเขามี feature อยู่หลายตัวที่ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในตัวสินค้ามากยิ่งขึ้น คล้ายกับที่หลายคนเคยใช้บริการในเว็บไซต์วิพากษ์วิจารณ์สินค้าอย่าง Epinions.com อาจจะดูเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่สินค้าที่ไม่ดัง และดูจะมีความคลุมเครือ หรือไม่แน่ใจว่าจะใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่าหรือเปล่า ที่ผู้ซื้อจะไม่แน่ใจ จะต้องมีการอธิบายคุณประโยชน์ของสินค้า หรือเลยไปถึงการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งตรงจุดนี้เราจะเห็นได้ว่าการขายสินค้าใด ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งอยู่ที่พนักงานขาย แต่ในโลกออนไลน์ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ Content ที่จะมาสร้างความชัดเจน
4. ทำให้ลูกค้าเชื่อให้ได้ว่าในโลกนี้มีสินค้าที่ “ดีและถูก”
ในโลกอินเทอร์เน็ตถ้าใครที่ติดตามการดำเนินงานของ Amazon.com มาตลอดจะรู้ว่า เจฟฟ์ทุ่มงบโฆษณามหาศาลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เขาเคยจ่ายไปกับแคมเปญโฆษณายาว 15 เดือนติดกัน ในหลาย ๆ รัฐ แต่จู่ ๆ เขาก็เลิกให้ความสำคัญกับสื่อโทรทัศน์ โดยให้เหตุผลว่า
ที่จริงแล้วการโฆษณาทางสื่อที่ mass หรือเข้าถึงมวลชนได้มากนั้นคุ้มค่า แต่สำหรับเขามันยังคุ้มไม่พอที่เขาจะต้องจ่ายมากขนาดนั้น แทนที่จะต้องจ่ายกับการโฆษณา เขาคิดว่าเอาเงินเหล่านั้นมาคืนกำไรลูกค้าด้วยการเอาเงินไปทุ่มกับการลดราคาสินค้าลง และเสนอการขนส่งฟรีให้กับลูกค้าเพื่อเพิ่มยอดขายจะดีกว่า ซึ่งเจฟฟ์อ้างว่าเพิ่มยอดขายได้อย่างน่าพอใจและตรงนี้เองที่เจฟฟ์เชื่อว่ามันจะกลายเป็นกระแสที่ผู้ประกอบการดอทคอมจะหันมาใช้กัน เนื่องจากการบริหาร Customer experience เป็นเรื่องสำคัญ
เหมือนกับที่นักวิชาการทางการตลาดหลายคนพยายามกล่าวอ้างทฤษฎี CEM หรือ Customer Experience Management มากขึ้นทุกวัน ต่อไปนี้การกล่าวอ้างสรรพคุณว่าบริการของตนดีแค่ไหน จะลดน้อยลง แต่สิ่งที่จะได้ผลกลับเป็นวิธีง่าย ๆ นั่นก็คือกลยุทธ์ ปากต่อปาก หรือ Word of Mouth marketing นั่นเอง“ไม่จำเป็นต้องบอกใครว่าคุณดี แต่ดีให้เขาเห็น” น่าจะเป็นคำพูดที่จริง ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์
– – – – – – –
อย่างไรก็ตาม เจฟฟ์ก็ออกตัวว่าถึงการตลาดแบบปากต่อปากจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น แต่การโฆษณาก็ไม่ได้หายไปเสียเมื่อไหร่ หากแต่มันจะเกิดความสมดุลกันระหว่างการโฆษณาประชาสัมพันธ์และคุณภาพที่แท้จริงของสินค้าและบริการ ซึ่งส่วนตัวแล้วเขาคิดว่าถ้าหากสูตรสำเร็จในการทำการตลาดวันนี้อยู่ที่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าบริการคุณดีแค่ไหน 70 เปอร์เซ็นต์ และอีก 30 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่การทำให้สินค้าและบริการมีคุณภาพมากขึ้น อีก 20 ปีข้างหน้า สูตรสำเร็จดังกล่าวจะต้องกลับกันอย่างแน่นอน
จากที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เสาหลักของวงการดอทคอมก็ยอมรับว่าสิ่งหนึ่งที่อินเทอร์เน็ตยังทำได้ไม่สมบูรณ์ก็คือการพบปะลูกค้าแบบ Face-to-face เพราะคนเป็นสัตว์สังคม เรายังต้องการที่จะมีปฎิสัมพันธ์ พูดจาประสาเพื่อนกันกับคนอื่น ๆ แต่อินเทอร์เน็ตก็ยังเป็นสื่อที่ทรงพลังในการขาย และเชื่อได้เป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจใหม่ของโลกยุคสารสนเทศ จะเห็นได้ว่าเจฟฟ์พยายามสร้างเครื่องมือทางการตลาดของเขาออกมาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็น Search Engine A9.com ของเขาที่เพิ่งจะจับมือกับเจ้าของธุรกิจฐานข้อมูลขนาดใหญ่อย่าง สมุดหน้าเหลือง หรือ YellowPages ไปหมาด ๆ
สำหรับประเทศไทย หากเรานำความคิดของเจฟฟ์มาปรับใช้ทั้งหมดอาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะธรรมชาติของคนใช้อินเทอร์เน็ตไทยเป็นคนที่เรียกร้องความเป็นกันเองสูง ปัจจัยนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้คนไทยยังชอบที่จะซื้อของแบบธรรมดาอยู่ เพราะได้เจอะเจอกับพนักงานขาย มีการต่อรองราคาแบบหั่นแหลก และลูกล่อลูกชนอีกสารพัด บวกกับกระแสการเก็บเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือ (M-Payment) ยังไม่ง่ายต่อการใช้งาน และเป็นธรรมชาติมากเพียงพอ คนก็ยังอยากจะซื้อของแบบเดิมอยู่ ไม่เหมือนกับคนบางประเทศ อย่างประเทศสวีเดนที่มีภูมิประเทศที่ทำให้คนเดินทางลำบาก จนคนหันมาใช้อีคอมเมิร์ซกันในระดับที่น่าพอใจ
หนังสือและบทความแนะนำอ่านเพิ่มเติม
พ็อกเก็ตบุ๊คส์
1. Amazon Hacks 100 Industrial-Strength Tips & Tools โดย Paul Bausch สำนักพิมพ์ O’Reilly
2. Content Critical โดย Gerry Mcgovern และ Rob Norton สำนักพิมพ์ FT Prentice Hall
นิตยสาร
1. เรื่องจากปก นิตยสาร PC World ปีที่ 2 ฉบับที่ 18 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2548 หน้า 782
2. คอลัมน์ Is it IT? โดย ดร.มะนาว นิตยสาร a day weekly ปีที่ 1 ฉบับที่ 39 11-17 กุมภาพันธ์ 2548 หน้า 95