วันนี้ผมขอเปลี่ยนบรรยากาศการเล่าเรื่องจากเดิมที่เขียนเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ข่าวสาร ความเคลื่อนไหว ในวงการดอทคอมทั้งในบ้านเรา และต่างประเทศ มาเป็นการเล่าเรื่องประสบการณ์การทำงานกับทีมงานเว็บไซต์ Manager.co.th ของกลุ่มผู้จัดการบ้างนะครับ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านบ้างตามสมควร
ปลายปี 2542 ผมได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการอย่างจับพลัดจับผลู ด้วยการฝากฝังของคุณพ่อ ซึ่งรู้จักกับคนในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสืออยู่ที่สหรัฐฯ โดยที่ไม่ได้คิดวางแผนอะไรไว้ก่อนเลยว่าจะเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นคนข่าว (ตอนเช้าก่อนออกจากบ้านผมยังทำหน้าเป๋อเหรออินโนเซนส์ถามคุณพ่ออยู่ว่าขอโทษนะครับพ่อ เราจะไปไหนกันเหรอ)
ผมกับพ่อไปถึงบ้านพระอาทิตย์ หอบัญชาการของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการในช่วงเช้า ขณะที่กำลังเดินไปที่ห้องรับแขก สายตาของผมก็ปราดไปเห็นชายร่างใหญ่ท่าทางน่าเกรงขาม ผมสั้นสีดอกเลาในชุดเสื้อเชิ้ตสีขาวกางเกงสแลคสีดำ ท่าทางสุขุมกำลังสูบซิการ์ควันขาวลอยนวลออกมาเป็นเส้นฉวัดเฉวียนออกมาจากห้อง ใช่แล้ว…ผู้ชายคนนี้ก็คือ สนธิ ลิ้มทองกุล เขากำลังประชุมข่าวตอนเช้ากับบรรณาธิการข่าวของ “ผู้จัดการ” อยู่
“เฮ้ย น้อยรอเราก่อน ประชุมอยู่ เดี๋ยวตามไป” คุณสนธิเอ่ยทักทายพ่อผมด้วยชื่อเล่นอย่างเป็นกันเอง ก่อนที่จะหันไปประชุมข่าวต่อ และหลังจากนั้นอีกไม่กี่นาทีเขาก็ตามมาทักทายโอภาปราศรัยกับคุณพ่อผม สักพักนึงคุณสนธิก็มองหน้าผมพลางถามว่า
“จบอะไรมาล่ะเรา”
“นิเทศศาสตร์ครับ” ผมตอบ
“อยากทำอะไรล่ะ” คุณสนธิถามต่อ
“อยากเป็นดีเจครับ”
มารู้ตัวอีกทีเลยว่าโง่มากที่พูดอะไรไปอย่างนั้น คือไม่ได้รู้ตัวเลยว่าตัวเองกำลังคุยกับเจ้าพ่อสื่อรุ่นใหญ่ที่คร่ำหวอดในวงการหนังสือพิมพ์มากว่า 30 ปี รู้แต่ว่าชอบงานวิทยุ (สมัยเรียนมหาวิทยาลัยผมฝึกงานกับคลื่นวิทยุชื่อดังอยู่หลายแห่ง ดีเจคนไหนดังผมขอตามไปฝึกงานหมดซะทุกคน) แต่ตอนนั้นกลุ่มผู้จัดการมีสื่อในมือหลายแบบ จริง ๆ เขาจะจับผมไปอยู่ตรงไหนก็ได้ แต่คุณสนธิจัดให้ผมไปลงที่หนังสือพิมพ์…
“เอาอย่างนี้ ไปเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ก่อนก็แล้วกัน จะได้มีโอกาสเรียนรู้การทำงานจริง ๆ บ้าง…” คุณสนธิจัดการให้ผมเสร็จสรรพ จากนั้นไม่นาน มารู้ตัวอีกทีผมก็กลายเป็นนักข่าวหน้าบันเทิงของผู้จัดการเรียบร้อยแล้ว ยังจำได้ว่าสัมภาษณ์ก็ยังไม่เป็น เขียนหนังสือก็ยังไม่คล่อง เคราะห์ดีที่ผมไม่ใช่คนเดียวที่มีปัญหานี้ แต่บรรดานักข่าวหน้าใหม่ก็เช่นกัน คุณสนธิจึงจัดอบรมนักข่าวขึ้นมาเป็นการภายในให้กับนักข่าวรุ่นใหม่ จนนักข่าวรุ่นพี่บางคนอิจฉาไปเลย เพราะคุณสนธิไม่ค่อยมีเวลาลงมาสอนด้วยตัวเองแบบนี้เท่าไหร่
“นักข่าวของผู้จัดการต้องทำให้คนที่เราวิพากษ์วิจารณ์ เกลียด…กลัว…แต่เคารพ” คุณสนธิ กล่าวสอนผมและเพื่อน ๆ นักข่าวตลอดจนถึงน้องฝึกงานในเช้าวันหนึ่ง เล่นเอาอึ้ง ๆ ไปตามกัน “เกลียด กลัว แต่เคารพ?” ผมทวนคำสอนที่ค่อนข้างกระชับและรุนแรงของคุณสนธิด้วยความตะลึงพรึงเพริด พร้อมกับตั้งคำถามในใจตามประสาเด็กว่าทำไมเราต้องทำให้คนอื่นมาเกลียดกลัวเราด้วย ซึ่งแค่คำพูดนั้นถ้าจะตีความให้ลึกซึ้งถึงจะเข้าใจได้ว่าคุณสนธิไม่ได้สอนให้เราทำให้คนมาเกลียดเรา แต่การทำงานข่าวเป็นงานที่จะต้องถึงลูกถึงคน จับประเด็นข่าวให้คม นำเสนอให้ชัดเจน มันจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องปะทะกับแหล่งข่าวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แนวคิดเรื่อง “เกลียด กลัว แต่เคารพ” จึงหมายถึงถ้าเขาจะเกลียดที่เราไปเปิดโปงเขาก็จงทำให้เกลียดที่สุด กลัว ก็ทำให้กลัวหัวหดไปเลย แต่การที่เราทำให้ใคร “เกลียด” และ ”กลัว” เรา เราจะไม่ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารที่จะนำมาทำข่าวเชิงลึกได้ นั่นหมายความว่ามันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากเราไม่สามารถนำเสนอข่าวให้เขา “เคารพ” เราด้วยความเป็นมืออาชีพของเราได้ …นี่คือสิ่งที่ผมเข้าใจในเวลาต่อมา
………….
มันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยล่ะครับที่ผมจะเรียบเรียงสิ่งที่ผมเรียนรู้ใน “ผู้จัดการ” มาลงที่เว็บไซต์ Marketingbyte.com เพราะเวลาก็ผ่านมานานพอสมควรแล้ว เอาเป็นว่าผมรวบรัดตัดประเด็นเข้าเรื่องเกี่ยวกับ Dot-Com เลยก็แล้วกันนะครับ จะว่าไปแล้วถ้าเราพูดถึงหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เราจะรู้ได้ทันทีว่า “ผู้จัดการก็คือสนธิ สนธิก็คือผู้จัดการ” บุคลิกของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการก็คือบุคลิกของคุณสนธิที่สะท้อนออกมาทางบทบรรณาธิการและการนำเสนอข่าว ด้วยความที่คุณสนธิแกเป็นคนหัวก้าวหน้า ในสมัยนั้นเขาค่อนข้างเป็นคนแรก ๆ ในเมืองไทยที่พูดคำว่า Globalisation หรือโลภานุวัตร (ที่หลายคนเรียกว่าโลกาภิวัฒน์) เรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ รับรองว่าไม่มีพลาด คุณสนธิสนใจเรื่องเว็บไซต์มาก เรื่องอินเทอร์เน็ตแกแอบไปจดโดเมนเนมเอาไว้ตั้งนานแล้ว แม้แต่พนักงานในบริษัทหลายคนก็ยังไม่รู้เรื่อง อย่างเช่นตอนแรกจะใช้ชื่อว่า MGROnline.com ด้วยซ้ำ ไม่ใช่ Manager.co.th เหมือนในปัจจุบัน
ผมจำได้ว่าสมัยนั้นผมเป็นคนแรก ๆ ที่มีโอกาสทำเว็บไซต์ Manager.co.th ซึ่งตอนนั้นมีเว็บมาสเตอร์คือ คุณเพชร – พชร สมุทวณิช นักข่าวการเมืองรุ่นใหม่ของผู้จัดการเป็นหัวหน้าทีม (ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร mars ในเครือผู้จัดการ) สมัยนั้นหน้าที่ผมไม่มีอะไรมาก เพราะผมแค่อัพโหลดข่าวที่มีอยู่ในหนังสือพิมพ์ประจำวันขึ้น server ทางเครื่อง Macintosh แบบวันต่อวันไม่ได้มีอะไรพิเศษนักหนา รูปแบบธุรกิจก็ยังไม่มีอะไร จนกระทั่งผมลาออกจากกลุ่มผู้จัดการไปเรียนต่อปริญญาโทที่ออสเตรเลีย ก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของเว็บไซต์ Manager.co.th
เบื้องหลังในตอนนั้นก็คือมีบริษัท Dot-Com ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของเมืองไทยมาคุยกับทางผู้จัดการและเสนอว่าจะจัดทำเว็บไซต์ให้ เพียงแต่ทางผู้จัดการเตรียมป้อน Content ให้เท่านั้น ทีมงานทุกคนก็พยักหน้าหงึก ๆ เป็นเชิงว่า ก็ให้เขาทำไปเถอะ เราเป็นนักข่าวก็ทำข่าวไปจะไปนั่งทำเว็บทำไม แต่คุณสนธิไม่ได้คิดแค่นั้น คนอย่างแกผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ และสิ่งที่แกคิดก็คือ “ทำเองดีกว่า” ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของพนักงาน และท้ายสุดบริษัท Dot-com นั้นก็ไปทำให้เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ให้หนังสือพิมพ์เล่มอื่น ซึ่งปัจจุบันนี้ก็เป็นเว็บที่มีชื่อนะครับ แต่ว่า traffic แตกต่างกับผู้จัดการมาก เรียกได้ว่าไม่ติดฝุ่นเลยดีกว่า… จนเมื่อเว็บไซต์ผู้จัดการขึ้นอันดับ 1 ในหมวดข่าวและสื่อของทาง Truehits.net และรั้งตำแหน่งอันดับ 3 ในภาพรวมทั้งหมดเกือบหนึ่งหมื่นเว็บไซต์มายาวนานถึงทุกวันนี้ ผมยังได้ยินคุณสนธิเปรย ๆ กับคุณพชรและทีมงานว่า “เป็นไงล่ะ บอกแล้วว่าทำเองก็ทำได้”
แล้วอะไรเป็นหัวใจแห่งความสำเร็จของเว็บไซต์ Manager.co.th?
โดยส่วนตัวผมมองว่ามันเป็นการ“ป่นและคั่ว” นักข่าวรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับนักข่าวรุ่นใหม่ซึ่งเติบโตมากับวัฒนธรรมการใช้อินเทอร์เน็ต ทำให้รสชาติของกาแฟข่าว “ผู้จัดการ” กลมกล่อมได้ที่ แต่กว่าจะปรับกันได้ ต้องไปถามคุณพชรครับ แกเป็นเว็บมาสเตอร์คนแรกที่เหนื่อยกับเว็บนี้มาก ๆ (แต่ก็คุ้มนะครับพี่ ฮ่าๆๆๆๆ) เพราะไหนจะเจอกระแสจากคนรุ่นเก่าที่บอกว่า ถ้าทำเว็บแล้วใครจะอ่านหนังสือพิมพ์ล่ะ เว็บมันอ่านฟรีนะ จะเอาเงินมาจากไหน ทั้งหมดนี้โชคดีที่คุณพชรแกชงเรื่องว่าผู้จัดการน่าจะทำเว็บแล้วคุณสนธิเล่นด้วย เพราะมันเป็นสิ่งใหม่ที่น่าลงทุน และมื่อเติม เอาวิญญาณของความเป็น “คนข่าว” ของนักข่าวที่รู้ว่าจะสร้าง Content ให้น่าสนใจได้อย่างไรบนโลกออนไลน์ มาผนวกกับทีมไอทีที่รู้ความต้องการของนักข่าว เว็บไซต์ Manager.co.th ภายใต้การนำของคุณสนธิและทีมงานก็ทำให้ทุกอย่างลงตัว
อย่างไรก็ตาม ในแง่ธุรกิจเมื่อก่อนนี้ บอกตรง ๆ ว่าผมเองเคยสงสัยอยู่ว่าเว็บไซต์ Manager.co.th อยู่ได้อย่างไร เพราะการทำเว็บไซต์ผู้จัดการเป็นเว็บ Content รายได้ของผู้จัดการมาจากสองทางนั่นคือ มาจากแผงหนังสือของคนที่ซื้อหนังสือพิมพ์ และโฆษณาแบบ Display Ad ในหนังสือพิมพ์ รายได้จากแบนเนอร์บนเว็บไซต์มีสัดส่วนไม่เยอะเท่าไหร่ เท่าที่ผมรู้มาจากเอเยนซี่หลาย ๆ แห่งก็บอกว่าผู้จัดการขายโฆษณาบนเว็บเหมือนกัน แต่ขายแพงมาก ๆ ซึ่งเหตุผลที่ผู้จัดการขายแพงก็เพราะต้นทุนของผู้จัดการสูงกว่าเว็บไซต์ประเภทอื่นที่เพียงแต่รวบรวมข่าวมาไว้ที่ตัวเอง ไม่ได้มีต้นทุนในการจ้างนักข่าวเลย บรรยาเอเยนซี่ก็เลยถอยกรูด
แต่ผมเชื่อว่าปัจจุบันนี้รายได้บนเว็บไซต์คงจะดีขึ้นแล้วล่ะครับ เพราะตอนนี้ถามใครว่าอ่านหนังสือพิมพ์อะไรบนเว็บไซต์ แทบจะร้อยทั้งร้อยรู้จักเว็บผู้จัดการออนไลน์ทั้งนั้น ปัจจุบันนี้ผู้จัดการแม้ว่าจะมีมรสุมอะไรพัดเข้าไปหาเยอะแยะไปหมด แต่คนที่ติดตามข่าวจริง ๆ ก็ต้องบอกว่าข่าวผู้จัดการเป็นข่าวที่อัพเดทตลอด 24 ชั่วโมงสำหรับคอข่าวจริง ๆ ไม่ติดตามที่นี่แล้วจะติดตามใคร เรียกได้ว่าผู้จัดการยึดหัวหาดในการบริโภคข่าวสารออนไลน์ในประเทศไทยไปเยอะแล้ว นอกจากนี้ผู้จัดการก็ยังคงมีการนำเสนอข่าวแบบใหม่ ๆ มาตลอดอย่างเช่น Manager Go ที่ให้คุณพิมพ์ออกมาจากเครื่องแล้วเอาไปอ่านระหว่างทางกลับบ้านได้เป็นต้น
ก็ดูกันต่อไปนะครับว่าในยุคที่สื่อต้องหลอมรวมกัน ซีอีโอคนใหม่ของผู้จัดการ ซึ่งก็คือ ปั๊บ จิตตนาถ ลิ้มทองกุล ลูกชายคนเดียวของคุณสนธิจะเดินหน้าไปทิศทางไหน
สื่อยุคใหม่ต้องจับตาดูอย่ากะพริบตา!