มีใครทำการตลาดผ่าน Twitter แบบไหนบ้างครับ? ผมเองใช้แนะนำคำถามเด็ดๆ ใน Yahoo! รู้รอบบ่อยๆ มันเป็นการหยิบยื่นประโยชน์ให้กับคนทั่วไป และเป็นการใช้ Twitter ทำการตลาดในเวลาเดียวกัน บางคนเขียนมาถามผมว่า แล้วจะเริ่มอย่างไรดี อันนี้พูดลำบาก เอาเป็นว่าผมจะอธิบายให้ละเอียดกว่าเดิม ยกเคสขึ้นมาเพิ่มเติมละกันครับ สงสัยอะไรก็ถามข้างล่าง หรือถ้ารู้สึกว่าวันนี้ผมฟุ้งซ่านไป ไม่น่าจะเวิร์คก็ช่วยแนะนำมาข้างล่างบล็อกนี้เลยนะครับ เรื่องของเรื่องคือใน Positioning เดือนมีนาคม ผมกะจะเขียนเรื่อง Twitter อีกสักที แต่อยากอธิบายให้ชัดขึ้น อยากรู้ว่าถ้าผมเขียนประมาณนี้โอเคไหม คิดยังไงกันบ้าง?
ผมเองผมอยากให้เรากลับไปมองที่จุดประสงค์หลักของเราก่อนว่า เราจะใช้มันทำอะไร เป้าหมายเราคืออะไร ไม่งั้นเราจะใช้ Twitter เหมือนเรือไม่มีหางเสือ
คำว่า “การตลาด” มันกว้างมาก มันจะเป็น Branded marketing ก็ได้ มันจะเป็น Product marketing ก็ได้ เป็น Customer relationship ก็ได้ แต่รวมๆ แล้วผมอยากให้นักการตลาดมองว่าการทำการตลาดบน Twitter นั้นเป็นเรื่องของ “การสร้างแบรนด์ที่น่าติดตาม” เพราะ Twitter มีจุดเด่นคือการเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทำให้คนสามารถอัพเดทกันได้แบบ Real time จะเป็นในรูปแบบการแนะนำสินค้าและบริการก็ได้ (เช่น ร้านอาหารฟูจิ ให้พนักงานมา Tweet บอกว่าคอยแนะนำเมนูเด็ดๆ) จะเป็นการให้คำแนะนำแล้วสอดแทรกแบรนด์ของเราเข้าไปในใจผู้บริโภคก็ได้ (เช่น Home Depot เอาพนักงานมานั่ง Tweet แนะนำเรื่องการสร้างบ้าน ตอบปัญหาคนบน Twitter)
ยกตัวอย่างว่า ผมต้องการที่จะโปรโมทร้านอาหารของผม เราทำแบบง่ายๆ นะครับ แค่รู้ว่าจะทำอะไร วางแผนการสร้างบทสนทนา แล้วก็ลงมือทำโดยร่วมบทสนทนากับคนใน Twitter โดยการหยิบยื่นประโยชน์ให้กับคนใน Twitter และวัดผลตอนท้าย อืมม ผมยกตัวอย่าง “โคขุนโพนยางคำ” ก็แล้วกัน (ร้านโปรดผมเอง! – ไม่เคยรู้จักเจ้าของร้าน ไม่มีเอี่ยวกันชัวร์)
จุดประสงค์: แนะนำให้คนที่ไม่รู้จักร้านโคขุนโพนยางคำ ให้รู้จัก และมาลองกินเนื้อที่ร้านโคขุนโพนยางคำจริงๆ มากขึ้น เพราะตอนนี้มีร้านปลอมเยอะเหลือเกิน
เรื่องที่จะเล่า: โคขุนโพนยางคำเป็นเนื้อชั้นเทพอย่างไร เด็ดอย่างไร โคขุนมาอย่างไร เนื้อมันเด็ดสะระตี่เพราะอะไร แล้วใช้ #originkokhun ซึ่งมีความหมายว่าเนี่ยล่ะ โคขุนโพนยางคำของแท้ (ของแท้ Original นะจ๊ะ) และพร้อมที่จะเล่าที่มาที่ไป (Origin ของมัน) ว่ามันดีอย่างไร
กลยุทธ์: สร้าง @kokhun (ไม่มีอยู่จริงนะครับ ผมเมคเล่นๆ) ขึ้นมาแล้วลิงก์ไปที่เว็บไซต์ของร้านอย่างเป็นทางการ ให้คนเชื่อก่อนว่าเราคือร้านโคขุนโพนยางคำตัวจริง โดยพนักงานที่ดูแลโดยตรงก็เข้ามา Join conversation กับคนทั่วไป คอยแนะนำเมนูเด็ดๆ ใหม่ๆ และขณะนั้นเองให้เราคอยเล่าเรื่องที่มาที่ไปของร้านโคขุนโพนยางคำว่าที่มา ที่ไปของเนื้อโคขุนนั้นมันแตกต่างจากเนื้อทั่วไปอย่างไร แล้วใส่ #originkokhun ไว้ท้ายข้อความทุกครั้งที่โพสต์ จากนั้นแนะนำให้คนใน Twitter ที่สนใจเรื่องโคขุนช่วยกันใส่ #originkokhun ด้วยกัน เพื่อให้คนทั่วไปเริ่มติดตามเราได้มากขึ้น
สร้างกระแสความร่วมมือ: ถ้าเราเข้าไปโฆษณาดื้อๆ โดยไม่มีลีลาการสร้างกระแสขอความร่วมมืออาจจะถูกปฎิเสธได้ง่ายๆ ครับ ดังนั้น ผมแนะนำว่าถ้าอยากให้ร้านของเราได้รับความร่วมมือในการใส่ #originkokhun ก่อนอื่นต้องละลายพฤติกรรมกันหน่อยครับ ชวนคุยดูก่อน เหมือน make friend ทั่วๆ ไป เสร็จแล้วสร้างหน้าโปรไฟล์บน Twitter ให้เห็นภาพชัดๆ ว่าจะติดต่อร้านได้ยังไง จนกระทั่งคุณมี Follower ที่สนิทกับคุณมากขึ้น และสนใจคุณจริงๆ สักจำนวนนึง จากนั้นเมื่อมีจังหวะก็เริ่มใส่
– “สวัสดีจ้า @ชื่อของคุณ วันศุกร์ตกลงว่าไงมากันกี่คน เดี๋ยวจองที่ไว้ให้เลย #originkokhun” (ทักทายและสร้างความคุ้นเคยกับลูกค้า)
– “วันนี้เนื้อลูกวัวหมดครับพี่ แต่เนื้ออื่นมีอีกเพียบบบ อ่ะนี่แผนที่ http://bit.ly…” (คุ้นเคยบอกเส้นทางการไปร้านที่ถูกต้อง คนทั่วไปที่อ่านก็จะรู้ได้ว่าโคขุนจริงๆ ไปยังไง )
– “วันนี้ใครอยากทดลองกินเมนูใหม่ร้านโคขุนฯ ฟรี ติดต่อคุณปิงปองที่สาขาเกษตรเท่านั้นนะครับ #originkokhun” (มอบสิทธิประโยชน์ให้แฟน Twitter ของคุณ)
– “เนื้อโคขุนฯ ที่ร้านนุ่ม เพราะเราขุนให้โคสร้างเนื้อและไขมันแทรกในเนื้อ ไม่ใช้ฮอร์โมนเร่งโตครับ ระวังร้านปลอมนะครับ #originkokhun” (สอดแทรกข้อความที่คุณต้องการประชาสัมพันธ์ โดยที่คนไม่รำคาญคุณ)
การวัดผลความสำเร็จ: เราอาจทำหน้าเว็บเพจ แนะนำที่มาที่ไปของเนื้อชั้นเทพ “โคขุนฯ” ขึ้นมาสักอันแล้วคอย Track ดูว่ามีจำนวนคนเข้ามาดูหน้าเว็บเราที่มาจาก Twitter กี่คน ก็จะวัดผลได้ชัดเจนขึ้นครับ
สำหรับนักการตลาดที่อาจไม่คุ้นเคยกับ Hashtag มากนัก ลองอ่านบทความดีๆ เกี่ยวกับเทคนิคการโปรโมทธุรกิจใน Twitter ด้วย Hashtag ของคุณภาวุธ TARAD.com ดูนะครับ
เรื่องการตลาดนี่สงสัยต้องเขียนอีกเยอะเลยครับ ผมขอนั่ง “ตกผลึก” อีกสัก 2 สัปดาห์นะครับ คิดได้เยอะๆ แล้วจะเพิ่มเติมกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มลงนิตยสาร Positioning เดือนมีนาคมอีกทีนึง คืนนี้ตื้อๆ แล้วครับ รวบรวมสมาธิไม่ไหวแล้ว ใครมีคำแนะนำ หรือผมพลาดอะไรไปตรงไหน ช่วยแก้ให้ด้วยนะครับ โพสต์มาตอนท้ายนี่ได้เลย
ความคิดดี
ขอบคุณครับ มีความเห็นอะไรบ้างไหมครับ
เห็นภาพชัดแจ๋วเลยครับ
ขอบคุณครับ 🙂