เช้านี้ตื่นมาเจอข่าว #ลีกวนยู รู้สึกอึ้งๆ เล็กน้อย เพราะอย่างน้อยก็เคยใช้ชีวิตที่นั่นราว 3 ปี เห็นคนทั้งชมทั้งด่าพรรค PAP ของอดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศสิงคโปร์คนนี้มาไม่น้อย (และคงไม่เกินไปถ้าจะบอกว่าเขาคือผู้ก่อตั้งประเทศ)
ย้อนอดีตกลับไป สิงคโปร์เมื่อแยกออกมาจากมาเลเซียในปี 1965 เป็นเพียงประเทศเล็กๆ ที่ขาดทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ทั้งคนที่มี skill, คนระดับแรงงาน, และความรู้ แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของ “ลี กวน ยู” เขามองว่าการจะนำพาประเทศชาติให้พ้นวิกฤตินั้นทำได้หลายอย่าง และหนึ่งในนั้นก็คือการวางตัวเป็นศูนย์กลางของ Southeast Asia
การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนั้น “ลี กวน ยู” เคยให้สัมภาษณ์ว่า มันเป็นอาการ “ตกกระไดพลอยโจน” แบบที่เขาก็เลือกไม่ได้ เขาเคยคิดว่าการที่ตัวเองขาดทรัพยากรนั้นจะไม่สามารถนำพาความรุ่งเรืองสู่ประเทศชาติได้ เขาจึงรวมชาติกับมาเลเซีย แต่มันก็ไม่เป็นไปตามที่เขาคาดคิด วันหนึ่งเขาก็ต้องพาสิงคโปร์ออกมาจากมาเลเซีย…
เขาเริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงจากการสร้างศูนย์รวมน้ำใจในชาติ ปลุกกระแสรักชาติขึ้นมาผ่านสื่อของรัฐ ให้ประชาชนสิงคโปร์ จากนั้นทำให้ตัวเองกลายเป็น “เมืองท่า” ให้ทุกๆ ประเทศที่อยากจะติดต่อกับภูมิภาคนี้จะต้องเดินเรือผ่านมาที่สิงคโปร์ พร้อมกับดำเนินนโยบายภาษีให้นักลงทุน และบริษัทคมนาคมขนส่ง
ที่สำคัญ ลี กวน ยู มองไกลไปถึงอนาคต เขาตัดสินใจเปลี่ยนให้ประชาชนต้องเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก จากเดิมที่พูดจีนและเมเลย์เป็นหลัก เพราะมองว่าอังกฤษจะทำให้ประเทศก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วในวันที่อเมริกายังเป็นเจ้าโลก (ระยะหลังเห็นว่าก็เริ่มโปรภาษาจีนมากขึ้นครับ)
คนไม่มีงานทำ? เขานำสิงคโปร์เข้าสู่ยุคปฎิวัติอุตสาหกรรมด้วยการทำให้สิงคโปร์มีส่วนในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ส่งออก ก่อนที่ต่อมาจะลดบทบาทของการใช้แรงงานสู่การสร้างคนสิงคโปร์ให้มีความรู้ และออกไปสู่ตลาดโลกในที่สุด
ทรัพยากรบุคคลไม่พอ? ลี กวน ยู ออกนโยบายการ recruit คนระดับมหากาฬด้วยการมอบเงินเดือนระดับแพงยับให้กับคนที่มี skill ระดับโลกทั้งหลายมาทำงานที่สิงคโปร์ในแพคเกจที่สูงกว่าในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง
ทั้งหมดทั้งมวลส่งผลให้สิงคโปร์กลายเป็นเมืองท่าที่รุ่งเรืองในยุค 80-90 มาเรื่อยจนยุคนี้ก็ลดการพึ่งพาการท่าไปเยอะแล้ว เพราะโลกเชื่อมต่อกันด้วยสารสนเทศ ตลอดจนการคมนาคมอื่นๆ อย่างเครื่องบินและสนามบินที่ขึ้นชื่อได้ว่าติดอันดับ 1 ในโลก ก็ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป
แต่จากนี้ไปจะไม่มีเขา ทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่าสิงคโปร์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผมถามเพื่อนๆ ในสิงคโปร์ เขาบอกว่า “No, Singapore won’t change” ผมว่าก็ไม่แน่ แม้ระบบของ PAP จะวางมาดีแค่ไหนก็ตาม เรายังคงต้องจับตามองกันต่อไป